เอเอฟพี - ผู้นำชาติยุโรปจะกดดันตุรกีในการประชุมซัมมิทในวันจันทร์ (7 มี.ค.) ให้รับผู้อพยพทางเศรษฐกิจ “จำนวนมาก” คืนจากกรีซ ในขณะที่ โดนัลด์ ทัสก์ ประธานสหภาพยุโรประบุว่า เขาเห็นสัญญาณการคลี่คลายของวิกฤตผู้อพยพเป็นครั้งแรก
ในขณะที่มีการคาดเดาว่าจะมีผู้อพยพมากขึ้นในสภาพอากาศของฤดูใบไม้ผลิที่ร้อนขึ้นนี้ ผู้นำ 28 ชาติของสหภาพยุโรปต่างมีความคาดหวังอย่างมากว่าจะลดความโกลาหลนี้ได้จากการทำข้อตกลงใหม่กับนายกรัฐมนตรี อาเหม็ด ดาวูโตกลู ของตุรกี
อียูจะกดดันให้อังการาลดจำนวนการไหลทะลักของผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป เนื่องจากตุรกีเป็นจุดปล่อยผู้อพยพและผู้ลี้ภัยส่วนมากจากทั้งหมดกว่าหนึ่งล้านคนที่เข้ามายังยุโรปตั้งแต่ต้นปี 2015
เมื่อวันเสาร์ (5) ดิมิทริส อวรามาปูลอส กรรมาธิการผู้อพยพยุโรป กล่าวว่า กรีซซึ่งลำบากกับการรองรับผู้อพยพ 30,000 คนอยู่แล้ว คาดว่าจะต้องรับเพิ่มอีก “100,000 คน” ในสิ้นเดือนมีนาคมนี้
แต่ความตึงเครียดที่ยังคงค้างอยู่ได้ปะทุขึ้นเมื่อตำรวจตุรกีบุกปิดหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ต่อต้านรัฐบาลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ และบรัสเซลส์เตือนอังการาว่าพวกเขาต้องเคารพเสรีภาพสื่อ หากต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงการพูดคุยเรื่องผู้อพยพด้วยเช่นกัน
ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรปและผู้จัดการประชุมซัมมิตดังกล่าว ระบุในจดหมายเชิญของเขาว่า ความสำเร็จหลักๆ แล้วขึ้นอยู่กับการได้รับความเห็นพ้องจากตุรกีในการประชุมนี้ที่จะรับผู้อพยพทางเศรษฐกิจ “จำนวนมาก” ซึ่งไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ลี้ภัยคืนจากกรีซ
“มันจะทำลายโครงสร้างธุรกิจของพวกลักลอบค้ามนุษย์” ทัสก์กล่าวเมื่อเขายกแนวคิดดังกล่าวขึ้นพูดคุยกับดาวูโตกลูในกรุงอังการาเมื่อวันพฤหัสบดี (3)
ในขณะที่บรัสเซลส์ไม่ได้เปิดเผยแผนสำหรับการรักษาเขตเชงเก้น หรือเขตปลอดหนังสือเดินทางของอียู ซึ่งถูกสั่นคลอนโดยหลายประเทศที่ปิดพรมแดนของตนเพื่อหยุดการไหลทะลักของผู้ลี้ภัยจากซีเรียและที่อื่นๆ