xs
xsm
sm
md
lg

รอยเตอร์มองแง่ดี “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” มีเงินจ่ายค่าเสียหายโกงผลทดสอบประหยัดน้ำมัน แต่น่าห่วงอนาคตระยะยาวของแบรนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ผู้คนเดินผ่านบริเวณทางเข้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทมิตซูบิชิมอเตอร์ส ในกรุงโตเกียว ผู้ผลิตรถสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ “อาการหนัก” หลังยอมรับว่าหลอกลวงฉ้อฉลข้อมูลประหยัดน้ำมันของรถที่บริษัทผลิต </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - มิตซูบิชิมอเตอร์ส (เอ็มเอ็มซี) ประสบปัญหาหนักหน่วง ทั้งมูลค่าตามราคาตลาดและยอดสั่งซื้อในญี่ปุ่นต่างลดฮวบลงถึงครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่ที่บริษัทออกมายอมรับเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วว่าได้ใช้กลโกงหลอกลวงผลทดสอบการประหยัดน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ด้วยเงินสดที่มีอยู่ในมือมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งหนี้สินก็อยู่ในระดับต่ำ ผู้ผลิตรถสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้จึงยังน่าที่จะควบคุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเอาไว้ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมาถึงเวลานี้ก็ดูเหมือนว่า การคดโกงหลอกลวงของมิตซูบิชิมอเตอร์ส ดูจะมีขนาดขอบเขตจำกัดกว่าที่หวาดกลัวกันในตอนแรก จึงทำให้ดูมีลู่ทางโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่บริษัทแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถรายค่อนข้างเล็กของญี่ปุ่น จะสามารถรอดชีวิตจากกรณี
ฉาวโฉ่ครั้งที่ 3 ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้

แต่กระนั้น ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของความอื้อฉาวเหล่านี้ อาจจะติดตามส่งผลทำให้ความอยู่รอดต่อไปในระยะยาวของบริษัท ยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง เมื่อพิจารณาจากความกระทบกระเทือนอันหนักหน่วงสาหัสระลอกล่าสุดซึ่งแบรนด์รถยนต์นี้ได้รับอยู่ ทั้งนี้ในวิกฤตการณ์ครั้งก่อนเมื่อปี 2004 ผู้ผลิตรถรายนี้หลุดรอดจากการพังครืนลงมา ก็หลังจากที่บริษัทอื่นๆ ในเครือมิตซูบิชิด้วยกันกระโจนเข้ามาโอบอุ้ม

“บริษัทได้กระทำซ้ำความผิดประเภทเดียวกันอีก ดังนั้นสถานการณ์จึงดูไม่ดีเลย” แหล่งข่าวรัฐบาลรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ให้ออกนามเนื่องจากความอ่อนไหวของประเด็นปัญหานี้ กล่าวให้ความเห็น

ขณะที่พวกผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์บอกว่า การที่บริษัทอย่างมิตซูบิชิมอเตอร์สยังคงอยู่รอดต่อไปได้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่าการขจัดเพลเยอร์ที่อ่อนแอในอุตสาหกรรมซึ่งมีการแข่งขันดุเดือดยิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากขนาดไหน ถ้าหากฝ่ายบริหารยังคงเอาแต่หลีกเลี่ยงไม่ยอมลงมือตัดสินใจกระทำเรื่องโหดๆ อย่างเช่น การดาวน์ไซซ์, การควบรวมกิจการ, หรือการล้มเลิกกิจการ

“นี่ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ความเฉื่อยชากลายเป็นบรรทัดฐานไปเสียแล้ว ซึ่งทำให้พวกผู้ผลิตรถที่น่าจะหายลับไปได้แล้ว กลับยังคงรอดชีวิตอยู่ต่อมาอีกหลายสิบปี” เจมส์ เชา กรรมการจัดการฝ่ายวิจัยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ไอเอชเอส ออโตโมทีฟ ในเซี่ยงไฮ้ ให้ทัศนะ
<i>รถขนาดมินิรุ่น  eK Wagon ของมิตซูบิชิ  ซึ่งเป็นรุ่นหนึ่งที่มิตซูบิชิมอเตอร์สยอมรับว่าหลอกลวงฉ้อฉลข้อมูลประหยัดน้ำมัน </i>
ยอดขายรถตกวูบ

อันที่จริง ดีมานด์ความต้องการรถมิตซูบิชิ อยู่ในอาการอ่อนแรงลงอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดญี่ปุ่นเอง ทั้งนี้ผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ขายรถภายในบ้านตัวเองได้เพียง 102,000 คันในรอบปีการเงินที่ผ่านมา (เม.ย.2015 – มี.ค.2016) ตัวเลขนี้เท่ากับลดลงถึงครึ่งหนึ่งของยอดขายเมื่อ 1 ทศวรรษที่แล้ว และด้วยยอดขายรถได้ปีละประมาณ 1 ล้านคัน มิตซูบิชิมอเตอร์สจึงมีฐานะเป็นแค่ปลาซิวปลาสร้อยในตลาดโลก และต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดลงไปเรื่อยๆ ให้แก่พวกคู่แข่ง อาทิ ฮอนด้า, มาสด้า, และฮุนได

ถึงแม้ราคาหุ้นของมิตซูบิชิมอเตอร์ส ได้กลับกระเตื้องขึ้นมาในระยะหลังๆ เป็นต้นว่า บวกขึ้นมา 2.67% ในวันจันทร์ (2 พ.ค.) หลังจากไต่สูงขึ้นกว่า 6% ในวันพฤหัสบดี (28 เม.ย.) วันซื้อขายสุดท้ายก่อนตลาดญี่ปุ่นปิดช่วงวันหยุด แต่ก็ยังคงลดต่ำลงเกือบ 50% นับตั้งแต่ที่บริษัทออกมาแถลงยอมรับในวันที่ 20 เมษายนว่า ได้หลอกลวงคดโกงผลทดสอบประหยัดน้ำมันของรถขนาดมินิ 4 รุ่นของบริษัท โดยมูลค่าตามราคาตลาดหลักทรัพย์ของมิตซูบิชิมอเตอร์สหดหายไปไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

พวกนักลงทุนยังมีเรื่องวิตกกังวลไม่รู้หายอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ มิตซูบิชิมอเตอร์ส ได้หลอกลวงปลอมแปลงข้อมูลของรถที่ขายในสหรัฐฯด้วยหรือไม่ ขณะที่บริษัทขายรถไม่ถึง 100,000 คันในตลาดแห่งนั้น ทว่าอเมริกาเป็นตลาดที่ชอบค้าความมากกว่า ซึ่งหมายถึงอาจจะต้องจ่ายเงินค่าเสียหายสูงกว่ามากมายนัก จนถึงเวลานี้มิตซูบิชิมอเตอร์สยังคงยืนยันว่า อัตราการใช้น้ำมันของรถซึ่งขายในสหรัฐฯที่บริษัทประกาศนั้น ถูกต้องไม่ได้มีการปลอมแปลง

งบดุลล่าสุดของมิตซูบิชิมอเตอร์ส แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีเงินสดอยู่ 453,400 ล้านเยน (4,230 ล้านดอลลาร์) ที่สามารถนำมาใช้จ่ายชดเชยค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ขณะที่ยอดหนี้สินมีเพียง 27,000 ล้านเยน และไม่มีภาระผ่อนชำระหนี้สินคงค้าง ดังนั้นจึงมีช่องทางที่จะหากู้ยืมเพิ่มเติมด้วยซ้ำถ้าจำเป็น สำหรับอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ (shareholder equity to assets ratio) ของบริษัท ซึ่งอยู่ที่ 48ก็เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรากำลังสร้างฐานะทางการเงินของเรา” ยูตากะ ทาบาตะ กรรมการผู้จัดการของบริษัทแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมย้ำวา “โครงสร้างทางการเงินของเรานั้นแข็งแกร่ง”

มิตซูบิชิมอเตอร์สให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แก่การเสริมเติมฐานะการเงินของตนเอง นับตั้งแต่กรณีอื้อฉาวคราวก่อนๆ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซุกซ่อนปกปิดคำร้องเรียนของพวกลูกค้าและการแอบงุบงิบเรียกรถมีปัญหามาซ่อมแซมอย่างเงียบๆ ซึ่งในที่สุดได้ถูกเปิดโปงและบานปลายทำให้พวกอดีตผู้บริหารถูกจับกุม อีกทั้งต้องให้กิจการอื่นในเครือมิตซูบิชิเข้ามาช่วยเหลือให้รอดพ้นการล้มละลาย ทว่าจากการเน้นหนักแต่เรื่องการเงิน ก็อาจเป็นเหตุให้ละเลยไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องธรรมาภิบาลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบกติกาของทางการ

ทีมนักวิเคราะห์ของเอสแอนด์พี ซึ่งประกาศว่าทิศทางแนวโน้มเครดิตเรตติ้งของมิตซูบิชิมอเตอร์ส ถูกจับตาเป็น “ลบ” แถลงว่า พวกเขาเคยคิดว่าการปรับโครงสร้างและภาวะธรรมาภิบาลที่กระเตื้องขึ้นของบริษัทภายหลังกรณีอื้อฉาวคราวก่อนๆ เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น “อยางไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าการคดโกงผลทดสอบ (ที่เพิ่งถูกนำออกมาเปิดโปงกัน) คือหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาฉกรรจ์ในการบริหารและธรรมาภิบาลของบริษัท”
<i>รถ  Nissan DAYZ-ROOX ซึ่งมิตซูบิชิมอเตอร์ผลิตให้ค่ายนิสสัน เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ค่ายมิตซูบิชิแถลงว่าหลอกลวงฉ้อฉลข้อมูลประหยัดน้ำมัน </i>
ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีขนาดขอบเขตแค่ไหน?

นักวิเคราะห์หลายรายประมาณการว่า มิตซูบิชิมอเตอร์สอาจจะต้องจ่ายเงินเกือบๆ 1,000 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าชดเชยให้แก่พวกลูกค้าในญี่ปุ่นซึ่งซื้อรถยนต์ขนาดมินิของบริษัทเพราะหลงเข้าใจว่าเป็นรถประหยัดน้ำมัน

ส่วนทีมนักวิเคราะห์ของโนมูระซีเคียวริตีส์กล่าวว่า ความผิดจากการที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามระบบทดสอบของญี่ปุ่น อาจทำให้ต้องควักเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกราว 24,000 ล้านเยน (224 ล้านดอลลาร์) เมื่อรวมกันแล้วก็อาจทำให้ต้องขาดทุนเพิ่มพิเศษขึ้นมา 150,000 ล้านเยนในปีการเงินปัจจุบัน (เม.ย.2016 – มี.ค.2017)

ยอดสั่งซื้อรถใหม่ที่ลดฮวบลงมาจะเป็นค่าเสียหายอีกรายการหนึ่งที่ต้องบวกเข้ามา รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการต้องระงับการผลิตรถยนต์ขนาดมินิทั้งรุ่น อีเค แวกอน (eK Wagon) และรุ่น อีเค สเปซ (eK Space) ของมิตซูบิชิเอง ตลอดจนรถนิสสัน เดย์ซ (Nissan Dayz) และ เดย์ซ รูซ (Dayz Roox) ซึ่งผลิตให้ค่ายนิสสัน ทั้งนี้การผลิตรถให้นิสสัน ถือเป็นตัวจักรสำคัญสำหรับยอดขายภายในญี่ปุ่นทีเดียว เนื่องจากรถแบรนด์มิตซูบิชิมอเตอร์สเอง มีแต่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อยๆ

ในปีการเงินที่ผ่านมา มิตซูบิชิมอเตอร์สผลิตรถขนาดมินิรวม 202,000 คัน โดยที่ราว 144,000 คันผลิตให้ค่ายนิสสัน มิตซูบิชิมอเตอร์สแถลงว่าได้หยุดการผลิตรถทั้ง 4 รุ่นซึ่งบริษัทยอมรับว่ามีการหลอกลวงข้อมูลแล้ว พวกนักวิเคราะห์ประมาณการว่าการระงับการผลิต 1 ปีอาจจะทำให้บริษัทต้องแบกค่าใช้จ่ายถึง 250,000 ล้านเยน แล้วยังจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่นิสสันซึ่งเสียหายจากการที่ยอดขายลดลงอีกด้วย

คำถามสำคัญข้อต่อไปที่มิตซูบิชิมอเตอร์สจำเป็นต้องตอบก็คือ รถที่ขายในประเทศอื่นๆ ทางเอเชีย มีการประกาศข้อมูลเรื่องการประหยัดน้ำมันตามความเป็นจริงหรือว่ามีการหลอกลวงปลอมตัวเลข ทั้งนี้ตลาดเอเชียนอกญี่ปุ่นกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในเวลานี้มีขนาดคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดรวมของมิตซูบิชิมอเตอร์ส ตลาดเอเชียนอกญี่ปุ่นยังโตเร็ว โดยขึ้นมาถึงราว 1 ใน 5 ทีเดียวในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อบริษัทโฟกัสขายรถเอสยูวีและรถกระบะของตนในประเทศตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่

สำหรับคำถามนี้ คำแถลงล่าสุดจากมิตซูบิชิมอเตอร์สก็คือ บริษัทกำลังตรวจสอบว่ารถของตนซึ่งขายในเอเชียและในยุโรปนั้น ปฏิบัติตามกฎระเบียบกติกาอย่างถูกต้องหรือเปล่า
<i>เท็ตสึโระ ไอกาวะ ประธานกรรมการบริหารมิตซูบิชิมอเตอร์ส โค้งคำนับขอโทษ ระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีการหลอกลวงฉ้อฉลข้อมูลประหยัดน้ำมันของรถซึ่งบริษัทผลิต</i>

กำลังโหลดความคิดเห็น