xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” โชว์พลังกวาดชัยหยั่งเสียง 5 รัฐรวด ส่วน “คลินตัน” ซิวอีก 4 รัฐเบียด “แซนเดอร์ส” ตกขอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์วัย 69 ปี เต็งหนึ่งในศึกชิงตัวแทนพรรครีพับลิกัน
เอเอฟพี - กระแสแรงจนยากที่จะฉุดสำหรับมหาเศรษฐีปากเปราะ โดนัลด์ ทรัมป์ ล่าสุดโชว์ฟอร์มเจ๋งกวาดชัยชนะ 5 รัฐรวดในศึกหยั่งเสียงไพรแมรีของพรรครีพับลิกันเมื่อวันอังคาร (26 เม.ย.) ขณะที่อดีตรัฐมนตรีหญิง ฮิลลารี คลินตัน เต็งหนึ่งในสายเดโมแครต ก็เบียดแซงคู่แข่งร่วมพรรคอย่าง ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส เก็บชัยชนะมาได้อีก 4 รัฐ ทำให้โอกาสที่ตัวเต็งทั้งคู่จะคว้าตำแหน่งผู้แทนพรรคเพื่อไปชิงดำกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้ยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ

ทรัมป์ สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาอีกครั้งด้วยการเอาชนะ ส.ว. เท็ด ครูซ และ จอห์น เคซิก ผู้ว่าการรัฐโอไอโฮ ใน 5 รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการจัดหยั่งเสียง ได้แก่ คอนเน็ตทิคัต, เดลาแวร์, แมริแลนด์, เพนซิลเวเนีย และโรดไอแลนด์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวอเมริกันหลายล้านคนที่เอือมระอากับกลุ่มอำนาจเก่ายังพร้อมที่จะเทคะแนนให้มหาเศรษฐีปากร้ายผู้เป็นทางเลือกใหม่ และแม้แกนนำพรรครีพับลิกันจะพยายามเตะสกัดทุกวิถีทาง ก็ดูจะไม่เป็นผล

ในฝั่งเดโมแครต คลินตันเก็บชัยชนะได้แน่นอนแล้วที่รัฐเดลาแวร์ คอนเนตทิคัต แมริแลนด์ และเพนซิลเวเนียซึ่งถือเป็น “รางวัลใหญ่” สำหรับค่ำคืนที่ผ่านมา แต่ก็ไปพลาดให้แก่ ส.ว.เบอร์นี แซนเดอร์ส ที่รัฐโรดไอแลนด์

“ขอบคุณชาวเพนซิลเวเนียทุกคน ช่างเป็นค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่อะไรเช่นนี้” คลินตันกล่าวต่อผู้สนับสนุนที่เมืองฟิลาเดลเฟียหลังทราบผลการนับคะแนน ทั้งยังแสดงความกระตือรือร้นที่จะชิงชัยกับผู้แทนของรีพับลิกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้

ค่ำคืนที่ผ่านมาก็นับว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้กันสำหรับ ทรัมป์ ซึ่งสามารถกวาดคะแนนเสียงได้เกิน 50% ในรัฐทั้ง 5 ซึ่งทำให้จำนวนผู้แทนออกเสียงของเขายิ่งพุ่งติดจรวด ก่อนจะมีการโหวตเลือกผู้แทนพรรคอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค. นี้

เจมส์ โมโรน อาจารยคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ชี้ว่า “หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มที่รณรงค์ให้หยุด ทรัมป์ พยายามจะสกัดดาวรุ่งเขาให้ได้... แต่ผลการหยั่งเสียงในวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า มันไม่ได้ผลหรอก”

ชัยชนะของทรัมป์ มีขึ้นหลังจากที่ ครูซ และ เคซิก ได้ประกาศรวมพลังกันชั่วคราวเพื่อสกัดมหาเศรษฐีปากเปราะไม่ให้สามารถกวาดผู้แทนออกเสียงได้เกิน 1,237 คนก่อนถึงวันประชุมใหญ่ของพรรค โดย เคซิก จะงดหาเสียงในรัฐอินดีแอนา และหันไปทุ่มเททรัพยากรที่รัฐนิวเม็กซิโก และออริกอนแทน เช่นเดียวกับ ครูซ ที่จะเดินหน้าเข้าหาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในอินดีแอนาเต็มสูบ และปล่อย 2 รัฐที่เหลือให้เคซิก เพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งคะแนนกันเองในกลุ่มต่อต้านทรัมป์

อย่างไรก็ตาม เคซิกได้ออกมาผ่อนจุดยืนในอีกไม่กี่ชั่วโมงให้หลังว่า การจับมือกับ ครูซ ไม่ได้หมายความว่า ตนไม่ต้องการคะแนนเสียงจากชาวรัฐอินดีแอนา

ทรัมป์ได้ออกมาเยาะเย้ยครูซ และเคซิก ผ่านทวิตเตอร์ว่า “ข้อตกลงที่น่าขำยังไงมันก็ต้องพัง”
ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และเต็งหนึ่งในศึกชิงผู้แทนพรรคเดโมแครต
ฐานเสียงที่แข็งแกร่งของคลินตัน สร้างแรงกดดันต่อแซนเดอร์สมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ ส.ว.จากรัฐเวอร์มอนต์ผู้นี้ก็ยืนกรานจะสู้ต่อจนถึงศึกหยั่งเสียงไพรแมรีที่รัฐแคลิฟอร์เนียในวันที่ 7 มิ.ย. และไม่ยอมรับว่าตนหมดโอกาสที่จะได้เป็นผู้แทนเดโมแครตแน่นอนแล้ว

แซนเดอร์สยังเลี่ยงที่จะตอบตรงๆ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเขาจะยินดีสนับสนุนคลินตันหรือไม่หากเธอได้เป็นนอมินีของพรรค โดยบอกว่าขึ้นอยู่กับตัวคลินตันว่าจะสามารถเอาชนะใจคนหนุ่มสาวที่เป็นฐานเสียงของเขาได้หรือเปล่า

โครีย์ เลวันโดวสกี ผู้จัดการแคมเปญของทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว MSNBC ว่า “ครูซ ถูกเขี่ยออกไปจากการคัดเลือกผู้แทนพรรคแล้วในทางคณิตศาสตร์” ขณะที่ ริก ไวลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองในประเทศของทรัมป์ ก็บอกในทำนองเดียวกันว่า “เป็นที่รู้กันว่าเราจะได้ผู้แทนออกเสียงถึง 1,237 คนแน่ๆ”

ครูซ ยังคงไม่ถอดใจง่ายๆ โดยประกาศจะมุ่งหน้าหาเสียงต่อที่ “รัฐอินเดียนา เนแบรสกา นอร์ทดาโกตา มอนทานา วอชิงตัน และแคลิฟอร์เนีย”

อย่างไรก็ตาม โพลของซีบีเอสพบว่า ทรัมป์ มีคะแนนนิยมมาเป็นที่หนึ่งในรัฐอินดีแอนาราว 40% ขณะที่ ครูซ และ เคซิก มีเพียง 35% และ 20% ตามลำดับ

ทั้งนี้ หากทรัมป์พ่ายแพ้ที่รัฐอินดีแอนาจะยิ่งเป็นการลำบากสำหรับเขาที่จะได้ผู้แทนออกเสียงถึง 1,237 คนก่อนการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ระหว่างวันที่ 18-21 ก.ค.

“แต่ถ้า ทรัมป์ ชนะที่อินเดียนา ก็ยากที่ใครจะหยุดเขาได้อีก” โมโรนกล่าว

หาก ทรัมป์ ซึ่งเป็นเต็งหนึ่งได้ผู้แทนออกเสียงไม่ถึง 1,237 คน จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า brokered convention ในการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน โดยบรรดาแกนนำพรรคจะสามารถเจรจาต่อรองและเทคะแนนสนับสนุนผู้สมัครคนอื่นที่ไม่ใช่ ทรัมป์ และผู้แทนออกเสียงทั่วไป (pledged delegates) ซึ่งมีพันธะจะต้องไปโหวตให้ ทรัมป์ ในรอบแรก ก็อาจจะเลือกหนุนผู้สมัครคนอื่นๆ ได้ในรอบถัดไป
ส.ว.เบอร์นี แซนเดอร์ส จากรัฐเวอร์มอนต์, จอห์น เคซิก ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ และ ส.ว.เท็ด ครูซ จากรัฐเทกซัส

กำลังโหลดความคิดเห็น