รอยเตอร์ - มหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน แท็กทีมกวาดชัยชนะในศึกหยั่งเสียงไพรมารีที่รัฐนิวยอร์กเมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นการหวนคืนฟอร์มเต็งหนึ่ง หลังจากที่พ่ายคู่แข่งต่อเนื่องมาหลายรัฐ และทำให้แนวโน้มที่ทั้งคู่จะคว้าตำแหน่งผู้แทนพรรคของตนฉายแววชัดเจนขึ้น
สำหรับ ทรัมป์ การชนะในรัฐบ้านเกิดยังทำให้เขาขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่จะกวาดจำนวนผู้แทนออกเสียงให้ได้ถึง 1,237 เสียงก่อนวันประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันในเดือน ก.ค. เพราะนั่นหมายความว่าบุคคลที่จะได้เป็นผู้แทนพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้จะต้องเป็นเขาอย่างไม่มีทางพลิกโผ
ทางด้าน คลินตัน ซึ่งเป็นอดีต ส.ว.รัฐนิวยอร์ก ก็สามารถทำคะแนนแซง ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส ได้เป็นตัวเลขถึง 2 หลักในรัฐนี้ และทำให้สัดส่วนผู้แทนออกเสียงของเธอพุ่งติดจรวดจนแซนเดอร์ส วัย 74 ปี แทบไม่มีโอกาสไล่ตามทัน
ความสำเร็จที่รัฐนิวยอร์กทำให้เห็นแนวโน้มที่สดใสสำหรับทรัมป์ และคลินตัน ในศึกหยั่งเสียงอีก 5 รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอังคารหน้า (26)
จากผลการนับคะแนนที่ผ่านไปแล้วราว 98% พบว่ามหาเศรษฐีปากไม่มีหูรูดได้คะแนนโหวตถึง 60% ชนะ ส.ว.เท็ด ครูซ จากรัฐเทกซัส (14.5%) และ จอห์น คาซิก ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ (25%) แบบขาดลอย และมีแนวโน้มที่ทรัมป์จะกวาดผู้แทนออกเสียง 95 คนของรีพับลิกันในรัฐนิวยอร์กไปได้ทั้งหมด หากผลสรุปพบว่าเขาได้คะแนนโหวตเกิน 50% ทั่วทั้งรัฐ
“จากที่ผมดูผ่านจอโทรทัศน์เราคงไม่ต้องลุ้นอะไรอีกแล้ว” ทรัมป์ วัย 69 ปี กล่าวต่อผู้สนับสนุนที่อาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ ในย่านแมนฮัตตัน
ทรัมป์ระบุด้วยว่า พวกแกนนำรีพับลิกัน เอสแทบลิชเมนต์ ซึ่งพยายามสกัดไม่ให้เขาได้เป็นผู้แทนพรรค กำลัง “ตกที่นั่งลำบาก” เสียเอง พร้อมทั้งวิจารณ์ระบบ “เล่นไม่ซื่อ” ที่ทำให้ครูซเป็นฝ่ายชนะในการหยั่งเสียงรัฐที่ผ่านๆ มา
ทรัมป์เดินเข้าสู่สนามชิงชัยที่รัฐนิวยอร์ก โดยกวาดผู้แทนออกเสียงไปได้แล้ว 756 คน ขณะที่ครูซมีอยู่ 559 คน และ คาซิก 144 คน ตามการคำนวณของสำนักข่าวเอพี ซึ่งตัวเลขนี้รวมทั้งผู้แทนออกเสียงทั่วไป (pledged delegates) และ super delegates ซึ่งหมายถึงพวกผู้นำพรรคที่มีสิทธิ์จะโหวตหนุนผู้สมัครคนใดก็ได้
ทั้งนี้ หากทรัมป์ได้จำนวนผู้แทนออกเสียงไม่ถึง 1,237 คนก่อนที่พรรคจะจัดประชุมใหญ่ระหว่างวันที่ 18-21 ก.ค. ที่เมืองคลีฟแลนด์ ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า brokered convention ซึ่งบรรดาแกนนำรีพับลิกันสามารถเจรจาต่อรอง และเทคะแนนสนับสนุนผู้สมัครคนอื่นที่ไม่ใช่ทรัมป์
จนถึงขณะนี้แกนนำพรรครีพับลิกันก็ยังรับไม่ได้กับทัศนคติและจุดยืนของทรัมป์ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขู่เนรเทศผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 11 ล้านคนออกจากสหรัฐฯ, การใช้นโยบายการค้าแบบกีดกัน, แผนสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโก และการห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกาชั่วคราว
ด้านคลินตันพลิกกลับมาเอาชนะแซนเดอร์ส ที่รัฐนิวยอร์ก ด้วยคะแนน 57.9% ต่อ 42.1% หลังจากที่เป็นฝ่ายพ่ายไปถึง 7 รัฐ จากทั้งหมด 8 รัฐที่ผ่านมา
การเอาชนะแซนเดอร์สได้ที่รัฐนี้จะทำให้ผู้แทนออกเสียงของคลินตันยิ่งนำห่างแซนเดอร์สออกไปไกลกว่าเดิม และด้วยเกณฑ์ของพรรคเดโมแครตซึ่งผู้สมัครแต่ละคนจะได้ผู้แทนออกเสียงตามสัดส่วนคะแนนโหวตที่ได้รับในแต่ละรัฐ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ ส.ว.จากรัฐเวอร์มอนต์ผู้นี้จะตีตื้นกวาดผู้แทนออกเสียงได้ถึง 2,383 เพื่อชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคมาเป็นของตน
อย่างไรก็ดี การหยั่งเสียงที่รัฐนิวยอร์กก็ถูกวิจารณ์เรื่องความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในนิวยอร์กซิตีที่หายไปกว่า 125,000 คน
สก็อตต์ สตริงเกอร์ ผู้ตรวจสอบบัญชี (Comptroller) ของนครนิวยอร์ก ได้สั่งให้มีการตรวจสอบ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งยืนยันว่ารายชื่อประชาชนราว 125,000 คนในเขตบรุกลินถูกดึงออกไปจากทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง