เป็นไปตามความคาดหมายสำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน สองผู้สมัครเต็งหนึ่งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ซึ่งสามารถกวาดชัยชนะได้แบบถล่มทลายในศึก “ซูเปอร์ทิวส์เดย์” ซึ่งมีการจัดหยั่งเสียงเลือกผู้แทนพรรคใน 12 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.
ชัยชนะในรอบนี้ทำให้ ทรัมป์ และ คลินตัน คว้าจำนวนผู้แทนออกเสียงเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว และฉายแววชัดเจนว่าน่าจะคว้าตำแหน่งผู้แทนพรรคของตนลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือน พ.ย.นี้
ทั้ง 2 พรรคต่างจัดการเลือกตั้งขั้นต้นวันเดียวกันรวมแล้วฝ่ายละ 11 มลรัฐ โดย 10 รัฐมีการโหวตของทั้ง 2 พรรค ขณะที่อีก 1 รัฐนั้นแต่ละพรรคจัดในรัฐที่ต่างกัน คือ เดโมแครตจัดที่รัฐโคโลราโด และรีพับลิกันจัดที่รัฐอะแลสกา
ผลของการหยั่งเสียงครั้งสำคัญปรากฏว่าว่า ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้งในทั้งหมด 7 รัฐ ได้แก่ แอละแบมา เทกซัส อาร์คันซอ จอร์เจีย เทนเนสซี เวอร์จิเนีย และแมสซาชูเซตส์ ขณะที่คู่แข่งอย่าง ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส จากรัฐเวอร์มอนต์ สามารถคว้าชัยได้ที่รัฐบ้านเกิดของเขา รวมถึงอีก 3 รัฐ คือ โอกลาโฮมา โคโลราโด และมินนิโซตา
ในฝั่งพรรครีพับลิกัน มหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะไปตามคาดถึง 7 รัฐ ได้แก่ แมสซาชูเซตส์ เวอร์จิเนีย เทนเนสซี แอละแบมา จอร์เจีย อาร์คันซอ และเวอร์มอนต์ ส่วน ส.ว. เท็ด ครูซ คว้าชัยได้ที่รัฐเทกซัสบ้านเกิด โอกลาโฮมา และอะแลสกาซึ่งเป็นรัฐสุดท้ายที่มีการจัดหยั่งเสียงซูเปอร์ทิวส์เดย์
ด้าน ส.ว.มาร์โก รูบิโอ จากรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นตัวเลือกโปรดของ รีพับลิกัน เอสแทบลิชเมนต์ ทำผลงานได้น่าผิดหวังพอสมควร เพราะชนะที่รัฐมินนิโซตาไปเพียงรัฐเดียว
มีการประมาณกันว่า คลินตัน ได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนอย่างน้อย 457 คน จาก 865 คนที่มีให้ชิงกันในซูเปอร์ทิวส์เดย์ ส่วน แซนเดอร์ส ได้ไปอย่างน้อย 286 คน เมื่อบวกกับของเดิมที่มีอยู่เท่ากับว่าตอนนี้ คลินตัน มีตัวแทนผู้ลงคะแนนแล้วอย่างน้อย 1,005 คน ซึ่งหากได้ถึง 2,383 คน ก็จะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตแน่นอน ขณะที่ แซนเดอร์ส นั้นรวมแล้วเพิ่งจะได้ไปอย่างน้อย 373 คน
ทางด้าน ทรัมป์ ซึ่งชนะใน 7 รัฐได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนเพิ่มมาอีก 203 คน รวมเป็น 285 คน จากที่ต้องการ 1,237 คน เพื่อให้ได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน
ครูซ ได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนในศึกซูเปอร์ทิวส์เดย์ 144 คน รวมเป็น 161 คน และ รูบิโอ ได้ 87 คน ส่วนผู้สมัครรีพับลิกันอีกสองคน คือ จอห์น คาซิก ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ได้ 25 คน และ เบน คาร์สัน อดีตศัลยแพทย์ระบบประสาท ได้ 8 คน
สื่อต่างประเทศได้เสนอบทวิเคราะห์ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียน 4 ข้อจากผลหยั่งเสียงซูเปอร์ทิวส์เดย์ไว้ดังนี้
- สายเกินไปที่จะหยุด “ทรัมป์”
ดันเต สกาลา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ชี้ว่า “อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว” ที่ ทรัมป์ จะต้องได้เป็นผู้แทนพรรครีพับลิกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปีนี้อย่างแน่นอน
การเลือกตั้งขั้นต้นที่ผ่านมามีการชิงจำนวนผู้แทนออกเสียงของรีพับลิกันไปแล้วราว 30% โดยผู้สมัครแต่ละรายแบ่งจำนวนผู้แทนกันตามสัดส่วนคะแนนโหวตที่ได้ ซึ่ง ทรัมป์ ก็มีคะแนนนำโด่งมาเป็นที่หนึ่ง ทว่าหลังจากวันที่ 15 มี.ค.เป็นต้นไป การหยั่งเสียงของรีพับลิกันเกือบทุกรัฐที่เหลือจะเปลี่ยนไปใช้ระบบ “ผู้ชนะกินเรียบ” (winner-take-all system) และจะมีจำนวนผู้แทนออกเสียงที่เข้าสู่สนามชิงกันไปแล้วถึง 62% ภายในสิ้นเดือนนี้
ยิ่งการแข่งขันผ่านไปนานเท่าใด โอกาสที่แกนนำพรรครีพับลิกันจะสกัดดาวรุ่ง ทรัมป์ ก็จะยิ่งยากขึ้นเป็นทวีคูณ และหากเขาได้จำนวนผู้แทนออกเสียงถึง 1,237 คน ก็จะได้เป็นตัวแทนพรรคอย่างไม่มีทางพลิกโผ
- กระแส “รูบิโอ” ดันไม่ขึ้น
แม้ ส.ว.จากรัฐฟลอริดาผู้นี้จะเป็นตัวเลือกที่ รีพับลิกัน เอสแทบลิชเมนต์ พยายามหนุนให้ขึ้นมาโค่นทรัมป์ แต่ปรากฏการณ์ซูเปอร์ทิวส์เดย์แสดงให้เห็นแล้วว่า ชาวอเมริกันหลายล้านคนมองว่า “สายเกินไป” เสียแล้วสำหรับ รูบิโอ ที่จะเป็นผู้ชนะ
“ผู้นำพรรครีพับลิกันก็มีส่วนผิด เมื่อเห็นว่า ทรัมป์ มาแรงจนมีแนวโน้มที่จะคว้าตำแหน่งตัวแทนพรรค กลับไม่มีมาตรการสกัดเขาเอาไว้ให้อยู่ พอถึงวันนี้ ทรัมป์ ก็เป็นว่าวที่ติดลมบนเสียแล้ว” สกาลา กล่าว
แม้คะแนนของ รูบิโอ จะตามมาเป็นที่ 3 รองจาก ทรัมป์ และ ครูซ แต่ ส.ว.หนุ่มก็ยังประกาศจะสู้ไม่ถอย
- รีพับลิกันต้องหาวิธีสกัด “ทรัมป์”
แกนนำรีพับลิกันบางคน เช่น ส.ว.เบน แซสส์ เสนอว่า ควรจะมีผู้สมัครจากขั้วที่ 3 หรือผู้สมัครอิสระคนใหม่มาลงแข่งขันกับ ทรัมป์ ขณะที่บางคนถึงกับเสนอให้เปลี่ยนกฎการออกเสียงในเวทีประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อไม่ให้ ทรัมป์ ชนะได้
อย่างไรก็ตาม แฟรงก์ ลุนต์ซ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีบีเอสว่า แนวคิดเช่นนี้อันตรายอย่างยิ่ง เพราะการไล่บี้ผู้สมัครเต็งหนึ่งอย่าง ทรัมป์ ก็เท่ากับทำลายกระบวนการสรรหาผู้แทนพรรครีพับลิกันให้พังลงไปพร้อมกัน
ด้าน ส.ว. ลินด์เซย์ เกรแฮม ซึ่งประกาศตัวเป็นศัตรูกับมหาเศรษฐีปากเปราะ เสนอให้พรรคตัดสินใจหนุนหลัง เท็ด ครูซ “เพราะเป็นทางเลือกเดียวที่อาจจะหยุด ทรัมป์ ได้”
- “คลินตัน” ลอยลำสู่สนามเลือกตั้ง ปธน.
แม้จะได้ชัยชนะใน 4 รัฐที่มีการหยั่งเสียงซูเปอร์ทิวส์เดย์ แต่ ส.ว.เบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งชูนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กลับไม่มีมนต์ขลังพอที่จะโน้มน้าวใจฐานเสียงสำคัญของเดโมแครต นั่นก็คือ ชาวอเมริกันกลุ่มน้อย
ผลเอ็กซิตโพลพบว่า ชาวอเมริกันผิวสีกว่า 80% เลือกเทคะแนนให้ ฮิลลารี คลินตัน ส่วนชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกที่เป็นฐานเสียงเดโมแครตในรัฐเทกซัสก็โหวตเลือก คลินตัน ถึง 2 ใน 3
คลินตัน ยังได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มสตรีซึ่งเป็นฐานเสียงกว่าครึ่งของเดโมแครต ขณะที่ชัยชนะในการหยั่งเสียงแบบไพรแมรีใน 11 รัฐจากทั้งหมด 16 รัฐที่ผ่านไปแล้ว ก็ทำให้เธอมีสัดส่วนผู้แทนออกเสียงเหนือกว่า แซนเดอร์ส หลายขุม
แม้การเลือกตั้งขั้นต้นจะยังดำเนินไปอีกหลายเดือนกว่าจะครบทั่วประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเรื่องยากลำบากเต็มทีที่คู่แข่งในพรรคของ ทรัมป์ และ คลินตัน จะไล่ตามทัน ซึ่งก็แปลว่าเขาและเธอมีแนวโน้มชัดเจนเข้าไปทุกทีว่าจะต้องไปห้ำหั่นกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือน พ.ย. และหากเป็นเช่นนั้น ก็นับว่าเป็นการเสนอตัวเลือกผู้นำประเทศที่มีบุคลิกแตกต่างกันแบบสุดขั้วให้อเมริกันชนได้ตัดสินใจ ระหว่างอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและวุฒิสมาชิกหญิงที่มีความมุ่งมั่นและวิจารณญาณทางการเมือง กับนักธุรกิจปากไม่มีหูรูด ซึ่งถือเป็น “คนนอก” แวดวงการเมือง ซ้ำยังชอบสร้างความขุ่นเคืองด้วยการดูหมิ่นชาวมุสลิม คนเม็กซิกัน และผู้หญิง แต่ถึงกระนั้นกลับได้ใจประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เบื่อหน่ายนักการเมืองหน้าเดิมๆ และกังวลเรื่องก่อการร้าย คนเข้าเมือง และปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังคุกคามสหรัฐฯ