xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญ UN จี้ รบ.ซาอุฯ ยกเลิกโทษ “เฆี่ยน-ตัดแขนขา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยกเลิกการลงโทษทางกาย (corporal punishment) เช่น การเฆี่ยน หรือตัดแขนขาผู้กระทำความผิด ซึ่งราชอาณาจักรซาอุฯ ถือว่า เป็นวิธีการลงโทษที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์)

คณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการบังคับใช้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานของยูเอ็น (UN Convention against Torture) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับบทลงโทษในซาอุดีอาระเบีย เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2002 และแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ทางการซาอุฯ ปฏิบัติต่อบล็อกเกอร์ นักเคลื่อนไหว และนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

“รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้มีมาตรการใดๆ หรือไม่ที่จะยับยั้งการลงโทษทางกาย เช่น การเฆี่ยน และการตัดแขนขา ซึ่งเข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาฉบับนี้” เฟลิซ แกร์ หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญยูเอ็น ตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่ซาอุฯ เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.)

หัวหน้าคณะผู้แทนซาอุดีอาระเบีย ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังเตรียม “จัดทำประมวลกฎหมายอาญาใหม่ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขต และเพิ่มคำนิยามของการทรมานตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญายูเอ็น”

เขายืนยันว่า กฎหมายชารีอะห์ไม่ได้ขัดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ และ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทรมานของรัฐบาลซาอุฯ ก็มีพื้นฐานมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งพัฒนามาจากชารีอะห์ รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน”

โดยปกติแล้ว คณะกรรมการต่อต้านการทรมานของยูเอ็นจะตรวจสอบประเทศต่างๆ ทุก 5 ปี แต่ในกรณีของซาอุฯ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากริยาดส่งรายงานแจ้งแก่ทางคณะกรรมการล่าช้าถึง 4 ปี

แกร์ ระบุว่า คณะกรรมการได้รับแจ้ง “หลายกรณี” ที่ผู้ต้องหาอ้างว่า ถูกทรมานร่างกายให้รับสารภาพ และผู้พิพากษาซาอุฯ ก็ไม่ใส่ใจที่จะตรวจสอบเรื่องเหล่านี้เท่าที่ควร

เธออ้างถึงกรณีของ ราเอฟ บาดาวี บล็อกเกอร์ผู้ได้รับรางวัล “ซาคารอฟ” ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติด้านสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป แต่กลับถูกศาลซาอุฯ ตัดสินลงโทษเฆี่ยน 1,000 ครั้ง และจำคุก 10 ปีฐาน “ดูหมิ่นอิสลาม”

“เราทราบมาว่า มีบุคคลหลายคนที่เป็นสมาชิก หรือผู้ก่อตั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ถูกลิดรอนเสรีภาพ บางครั้งก็ถูกตั้งข้อหา หรือถูกลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลายาวนาน... นี่คือข้อมูลที่น่าตกใจ”

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เพิ่งจะไปเยือนซาอุดีอาระเบียในสัปดาห์นี้ และได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในซาอุฯ เช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น