เอเอฟพี - สายลับจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงคนกลาง (intermediaries) ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ล้วนเคยใช้บริการบริษัทกฎหมายปานามา มอสแซก ฟอนเซกา เพื่อปกปิดภารกิจของพวกเขา หนังสือพิมพ์ซึดดอยตช์ ไซตุง ของเยอรมนีรายงานวันนี้ (12 เม.ย.)
“พวกสายลับและผู้ที่ให้ข้อมูลแก่พวกเขาใช้บริการของ มอสแซก ฟอนเซกา อย่างกว้างขวาง” ซึดดอยตช์ ไซตุง ซึ่งเป็นสื่อฉบับแรกที่ได้เห็นแฟ้มลับ “ปานามา เปเปอร์ส” กว่า 11.5 ล้านฉบับที่ตกเป็นข่าวสะเทือนโลกอยู่ในขณะนี้ ระบุ
“สายลับพวกนี้จะเปิดบริษัทที่มีแต่เปลือก (shell companies) เพื่ออำพรางภารกิจของพวกเขา... คนกลางของซีไอเอก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย”
หนังสือพิมพ์ซึ่งมีฐานที่เมืองมิวนิก เผยด้วยว่า ลูกค้าของบริษัทกฎหมายปานามาแห่งนี้ยังรวมถึงบุคคลที่มีส่วนพัวพันกับกรณีอื้อฉาว “อิหร่าน-คอนทรา” เมื่อช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้จัดการขายอาวุธให้แก่อิหร่านอย่างลับๆ เพื่อแลกกับอิสรภาพของตัวประกันชาวอเมริกัน และยังนำเงินไปช่วยเหลือพวกบฏคอนทราในนิการากัว
ซึดดอยตช์ระบุอีกว่า แฟ้มลับปานามาได้เปิดโปงรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในอดีตและปัจจุบันของหน่วยข่าวกรองอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย โคลอมเบีย และรวันดา ที่เคยเป็นลูกค้าของมอสแซก ฟอนเซกา หนึ่งในนั้นคือ ชัยค์ กามาล อัดธัม อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองซาอุฯ ซึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อปี 1999 แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงทศวรรษ 1970 ชัยค์ อัดธัม ผู้นี้เคยรับหน้าที่เป็น “คนกลาง” ให้แก่ซีไอเอในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ซึดดอยต์ช ไซตุง ได้รับเอกสารชุดนี้มาจากแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อ และได้แบ่งปันให้แก่สื่อมวลชนกว่า 100 สำนักทั่วโลกผ่านทางสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists - ICIJ)
แฟ้มลับปานามาได้เปิดโปงพฤติกรรมของนักการเมืองระดับสูง และบุคคลดังทั่วโลกที่นิยมซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในบริษัทออฟชอร์ และเพียง 1 สัปดาห์หลังจากที่ข้อมูลบางส่วนถูกเผยแพร่ ก็ทำให้นายกรัฐมนตรี ซิกมุนดูร์ เดวิด กุนน์ลอจสัน แห่งไอซ์แลนด์ต้องลาออกจากตำแหน่ง และยังสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อผู้นำประเทศอีกหลายคนที่ถูกพาดพิงถึง