xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจมอสแซก 1 ใน 3 มีต้นทางจากจีน ซีอีโอแบงก์ออสเตรียลาออกเซ่นกรณีฉาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ชาวจีนเดินผ่านธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในย่านหว่านไจ๋ ฮ่องกง จากเอกสารที่รั่วไหลมาจากมอสแส็ก ฟอนเซกา บริษัทกฎหมายในปานามา พบว่าบริษัทเปลือกนอกกว่า 16,300 แห่งของบริษัทดำเนินการผ่านสำนักงานในฮ่องกงและจีน. -- Agence France-Presse/Isaac Lawrence.</font></b>

เอเจนซีส์ - รายงานจากไอซีไอเจระบุธุรกิจเกือบ 1 ใน 3 ของมอสแซก ฟอนเซกา ศูนย์กลางกรณีอื้อฉาว “ปานามา เปเปอร์ส” มีต้นทางจากสำนักงานในฮ่องกงและจีน ขณะที่ซีอีโอแบงก์ใหญ่ในออสเตรียกลายเป็นนายแบงก์รายแรกที่ลาออกเซ่นกรณีฉาวสะท้านโลกนี้

รายงานของสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) ที่ประสานงานการสืบสวนเอกสาร 11.5 ล้านชุดที่รั่วไหลจากมอสแซก ฟอนเซกา บริษัทกฎหมายในปานามา ที่เปิดเผยออกมาเมื่อวันพฤหัสฯ (7) ระบุว่า บริษัทเปลือกนอกกว่า 16,300 แห่งของบริษัทดังกล่าวดำเนินการผ่านสำนักงานในฮ่องกงและจีน หรือเท่ากับ 29% ของบริษัทเปลือกนอกทั่วโลกของมอสแซก ฟอนเซกา

จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของมอสแซก ฟอนเซกา บริษัทแห่งนี้มีสำนักงานในจีนถึง 8 เมือง ซึ่งถือว่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในจำนวนนี้มี เช่น ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น

การสืบสวนที่ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มพบว่าเครือญาติของสมาชิกคณะกรมการเมืองถาวร (พีเอสซี) ของจีนทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างน้อย 8 คน พัวพันในการใช้บริษัทการค้านอกประเทศ (ออฟชอร์) ซึ่งโดยตัวบริษัทเองไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถใช้เป็นช่องทางเคลื่อนย้ายเงินที่ได้มาโดยมิชอบออกนอกประเทศ

จีนนั้นมีปัญหาการคอร์รัปชันระบาดรุนแรง โดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจัดอันดับจีนที่ 83 จาก 168 ประเทศในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด

ขณะเดียวกัน การเติบโตของแดนมังกรกำลังชะลอตัว ทำให้บรรดาเศรษฐีต้องพยายามหลบเลี่ยงกลไกการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนอันเคร่งครัดของทางการ และหาทางส่งเงินออกนอกประเทศ

รายงานของไอซีไอเจมีชื่อเครือญาติของผู้นำจีน เช่น จาง เกาลี่ พี่เขยของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท 3 แห่งที่ปิดกิจการก่อนที่สีเข้ารับตำแหน่งในปี 2012, ญาติของหลี่ เผิง ผู้นำการปราบปรามผู้ประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมิน, ดาราดัง เฉินหลง เป็นต้น

สื่อจีนต่างหลีกเลี่ยงการรายงานกรณีปานามา เปเปอร์สในส่วนที่เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของเศรษฐีและผู้ทรงอิทธิพลในประเทศ ขณะที่เว็บไซต์ที่รายงานเรื่องนี้ถูกจำกัดการเข้าถึง

กระทรวงการต่างประเทศจีนยืนกรานปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเรื่องนี้ ขณะที่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ที่เกี่ยวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์ ฉบับวันพฤหัสฯ โจมตีว่า กฎหมายในตะวันตกให้การยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ และทั้งการเมืองและสื่อของตะวันตกล้วนแล้วอยู่ภายใต้การควบคุมของเงินทุน

“คำถามก็คือในบรรดานักข่าวที่สืบสวนกรณีปานามา เปเปอร์ส มีนักข่าวกำมะลอที่ทำงานให้หน่วยข่าวกรองอเมริกันปะปนอยู่ด้วยหรือไม่”

โกลบอลไทมส์ยังตั้งข้อสังเกตว่า น่าแปลกที่กรณีอื้อฉาวนี้มีคนดังของอเมริกาติดร่างแหเพียงหยิบมือเท่านั้น

โกลบอล ไทมส์ไม่ได้พาดพิงถึงนักการเมืองจีนที่มีรายชื่อในปานามา เปเปอร์ส แต่เน้นการเปิดเผยที่เกี่ยวข้องกับผู้นำไอซ์แลนด์ ยูเครน อังกฤษ รวมทั้งเพื่อนพ้องของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย

ทั้งนี้ ไอซีไอเจเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์เพื่อความสุจริตสาธารณะ (Center for Public Integrity) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สื่อข่าวสายสืบสวนที่ไม่หวังผลกำไร ที่ก่อนหน้านี้เคยรายงานเกี่ยวกับอิทธิพลของล็อบบี้ยิสต์ในแวดวงการเมืองอเมริกัน

วันเดียวกันมีรายงานว่า ไมเคิล เกรแฮมเมอร์ ประธานบริหารไฮโป แลนเดสแบงก์ โฟราร์ลแบร์กของออสเตรีย ที่มีชื่ออยู่ในปานามา เปเปอร์ส เป็นหนึ่งในนายธนาคารชั้นนำที่ลาออกสังเวยรายงานฉาว

เกรแฮมเมอร์แถลงว่า เชื่อมั่น 100% ว่าธนาคารไม่ได้ละเมิดกฎหมายหรือมาตรการลงโทษใดๆ และเสริมว่า การตัดสินใจนี้อิงกับหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา

โออาร์เอฟ สถานีแพร่ภาพกระจายเสียงของออสเตรียที่เป็นหนึ่งในองค์กรสื่อกว่า 100 แห่งที่ตรวจสอบเอกสารของมอสแซก ฟอนเซกา รายงานว่า แบงก์ดังกล่าวพัวพันกับบริษัทออฟชอร์ผ่านทรัสตีในลิกเตนสไตน์

ขณะนี้ เอฟเอ็มเอ ผู้คุมกฎตลาดการเงินของออสเตรีย กำลังตรวจสอบว่า ไฮโป โฟราร์ลแบร์ก ซึ่งมีรัฐโฟราร์ลแบร์กเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และไรไฟเซน แบงก์ อินเตอร์เนชันแนล ธนาคารออสเตรียอีกแห่งที่ถูกเอ่ยถึงในปานามา เปเปอร์ส ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการฟอกเงินหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น