เอเอฟพี - ประธานาธิบดี ฆวน การ์โลส บาเรลา แห่งปานามา ออกมาตำหนิรัฐบาลฝรั่งเศสว่า “ทำไม่ถูกต้อง” ที่ตอบสนองการเปิดโปงแฟ้มลับ ปานามา เปเปอร์ส ด้วยการใส่ชื่อปานามาลงในบัญชีแหล่งหลบเลี่ยงภาษี (tax havens)
“ผมขอเรียนอย่างชัดเจนว่า การตัดสินใจของรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเรื่องที่ผิดและไม่มีความจำเป็น ในเมื่อผู้นำรัฐทั้งสองยังมีการติดต่อสัมพันธ์กันอยู่ และโลกก็ต้องการความร่วมมือในระดับพหุภาคีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ” บาเลรา ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ (8 เม.ย.) พร้อมระบุว่าจะส่ง ดุลซิดิโอ เดอ ลา กวาเดียร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ไปปารีสในวันอังคารหน้า (12) เพื่อเน้นย้ำให้ฝรั่งเศสเข้าใจว่าปานามา “เป็นชาติที่มีศักดิ์ศรี ควรแก่การให้เกียรติ และพร้อมที่จะเจรจา” ทั้งยังมีเจตนารมณ์ส่งเสริมความโปร่งใสด้วย
มิเชล ซาแปง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ระบุว่า รัฐบาลจะใส่ชื่อปานามากลับเข้าไปในบัญชี “รัฐที่ไม่ให้ความร่วมมือ” ในการแบ่งปันข้อมูลภาษี
ฝรั่งเศสได้ถอนชื่อปานามาออกจากบัญชีรัฐและดินแดนที่ไม่ให้ความร่วมมือ (ETNC) เมื่อปี 2012 หลังมีการบรรลุข้อตกลงทวิภาคีเพื่อต่อสู้การหลบเลี่ยงภาษี การใส่ชื่อปานามากลับเข้าไปในบัญชีนี้ใหม่จึงเท่ากับว่า ธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับปานามาจะถูกตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนทุกครั้ง ว่า มีการฉ้อโกงภาษี จนกว่าจะมีหลักฐานยืนยันเป็นอื่น
ฝรั่งเศสยังเรียกร้องให้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ใช้มาตรการอย่างเดียวกัน
ทางการปานามาออกมาตอบโต้ทันที โดยขู่จะใช้มาตรการแก้แค้นฝรั่งเศส ซึ่งอาจรวมกึงการห้ามชาวฝรั่งเศสเข้าไปลงทุนในประเทศ และระงับสิทธิ์ในการยื่นซองประมูล
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงวิธีแก้เผ็ดเมืองน้ำหอม บาเรลา ระบุว่า “ยังไม่อยากพูดถึงตอนนี้” และขอให้ได้มีการเจรจากันเสียก่อน
บาเรลา ยืนยันในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลของเขาพร้อมที่จะแชร์ข้อมูลกับฝรั่งเศส พร้อมประกาศจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความโปร่งใสทางธุรกิจ
บาเรลา และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลได้มีมาตรการปฏิรูปหลายอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้ปานามาถูกใช้เป็นฐานในการก่อตั้งบริษัทเปลือกนอก
เดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปได้แถลงแผนต่อสู้การหลบเลี่ยงภาษีโดยบริษัทข้ามชาติ ซึ่งปานามาก็ติดอยู่ในโผแหล่งหลบเลี่ยงภาษี 30 แห่งทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน ก.พ. คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force - FATF) ได้ถอดชื่อปานามาออกจาก “บัญชีสีเทา” ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศที่ยังขาดมาตรการต่อสู้การฟอกเงิน และการระดมทุนอุดหนุนลัทธิก่อการร้าย
ทั้งนี้ หากถูกฝรั่งเศสขึ้นบัญชี ETNC จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อภาคการเงินของปานามา ซึ่งคิดเป็น 7% ของมูลค่าจีดีพี
สื่อมวลชนได้ออกมาตีแผ่แฟ้มเอกสารลับกว่า 11 ล้านฉบับของบริษัทกฎหมายปานามา “มอสแซ็ก ฟอนเซกา” (Mossack Fonseca) ซึ่งเปิดโปงพฤติกรรมทุจริตซุกเงินเลี่ยงภาษีของบุคคลระดับผู้นำประเทศ และผู้มีชื่อเสียงหลากหลายวงการ