xs
xsm
sm
md
lg

Focus : เหตุใด “ปานามา เปเปอร์ส” จึงไร้รายชื่อ “นักการเมือง-เศรษฐีอเมริกัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ในขณะที่แฟ้มลับของบริษัทกฎหมาย มอสแซ็ก ฟอนเซกา หรือที่เรียกกันว่า “ปานามา เปเปอร์ส” ได้เปิดเผยรายชื่อนักการเมืองดัง และมหาเศรษฐีทั่วโลกที่อาจมีพฤติกรรมซุกเงินเลี่ยงภาษี และยังพัวพันไปถึงผู้นำหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน อังกฤษ และ ไอซ์แลนด์ แต่ก็น่าแปลกใจที่บรรดา “คนดังอเมริกัน” แทบไม่มีชื่ออยู่ในเอกสารลับชุดนี้เลย

มอสแซ็ก ฟอนเซกา เป็นบริษัทกฎหมายในปานามาที่ให้บริการก่อตั้งบริษัทเปลือกนอก (shell companies) แก่ลูกค้าทั่วโลกที่ต้องการปกปิดตัวตน และความเป็นเจ้าของกิจการดังกล่าว หรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องการเลี่ยงภาษี

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเอกสารลับ 11.5 ล้านฉบับที่สมาคมผู้สื่อข่าวสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) นำมาตีแผ่ กลับมีรายชื่อของชาวอเมริกันอยู่เพียงไม่กี่ราย เท่าที่นับว่ามีชื่อเสียงอยู่บ้างก็มีเพียง “เดวิด เกฟเฟน” มหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง อไซลัม เร็คคอร์ดส และสตูดิโอภาพยนตร์ ดรีมเวิร์คส์ เอสเคจี แต่ก็เทียบไม่ได้กับเหยื่อระดับไฮ-โปรไฟล์ ในประเทศอื่น ๆ เช่น นายกรัฐมนตรี ซิกมุนดูร์ เดวิด กุนน์ลอจสัน แห่งไอซ์แลนด์, นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ หรือเพื่อนสนิทของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

“ที่จริงก็มีรายชื่อชาวอเมริกันอยู่หลายคน แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่เอกชนธรรมดา ๆ” มารินา วอล์กเกอร์ กูเอวารา รองผู้อำนวยการ ICIJ ซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่และประสานงานการตรวจสอบ ปานามา เปเปอร์ส ระบุ พร้อมย้ำว่า นี่ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าชนชั้นนำในอเมริกามีความโปร่งใสทางการเงินมากกว่าชนชาติอื่น ๆ

“นี่ไม่ได้หมายความว่าชาวอเมริกันอยู่นอกระบบออฟชอร์ จริง ๆ แล้วสหรัฐฯ คือผู้เล่นคนสำคัญด้วยซ้ำ”

เหตุผลข้อหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ ก็คือ พลเมืองสหรัฐฯ ที่ต้องการเปิดกิจการออฟชอร์มีแหล่งหลบเลี่ยงภาษี (tax havens) อื่น ๆ ที่น่าสนใจกว่าอย่างหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หรือหมู่เกาะเคย์แมน จึงมักไม่เลือกใช้บริการปานามาซึ่งใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก

“คนอเมริกันมีแหล่งหลบเลี่ยงภาษีมากมายให้เลือก” นิโคลัส แช็กสัน ผู้เขียนหนังสือ “Treasure Islands : Tax Havens and the Men who Stole the World” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของแหล่งซุกซ่อนเงินทุนทั่วโลก ระบุ

อันที่จริงแล้ว ชาวอเมริกันไม่จำเป็นที่จะต้องนำเงินทุนไปซุกซ่อนนอกประเทศ หรือทำธุรกรรมโดยอาศัยนายหน้า เพราะพวกเขาสามารถสร้าง “แหล่งหลบภาษี” ขึ้นมาได้ในบ้านของตัวเอง

หลายมลรัฐ เช่น เดลาแวร์ และ ไวโอมิง อนุญาตให้บุคคลเปิดบริษัทเปลือกนอกด้วยเงินแค่ไม่กี่ร้อยดอลลาร์ และแม้ธนาคารในสหรัฐฯ จะมีกฎโดยทั่วไปว่าต้อง “รู้จักตัวตนของลูกค้า” แต่ก็มีวิธีที่จะเลี่ยงกฎ และสามารถเปิดบัญชีให้แก่บริษัทเปลือกนอก ในกรณีที่ลูกค้าต้องการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเงียบ ๆ

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ พยายามสกัดกั้นการทำธุรกรรมลับเช่นนี้ เพราะอาจเป็นช่องทางที่พวกค้าอาวุธและยาเสพติดใช้ฟอกเงิน

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้แฟ้มลับปานามาไม่มีรายชื่อชาวอเมริกันอยู่มากนัก ก็คือ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้ทั้งวิธีฟ้องร้อง จับกุม และแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดกับชาวอเมริกันที่หลบเลี่ยงภาษี รวมไปถึงธนาคารต่างชาติที่ช่วยลูกค้าอเมริกันปิดบังเส้นทางเงินไม่ให้สำนักงานสรรพากรสหรัฐฯ (Internal Revenue Service - IRS) ตรวจสอบได้

สถาบันการเงินต่างชาติที่ถูกสหรัฐฯ เล่นงานหนักที่สุด คือ ธนาคารยูบีเอส และธนาคารเครดิตสวิสส์ ซึ่งถูกสั่งปรับเป็นเงินถึง 780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ฐานช่วยลูกค้าอเมริกันซุกทรัพย์สิน

แช็กสัน ชี้ว่า แหล่งหลบเลี่ยงภาษีบางแห่งก็ไม่อยากให้บริการแก่ลูกค้าชาวอเมริกัน เพราะเกรงว่าจะถูกสหรัฐฯ ไล่บี้

ในอีกด้านหนึ่ง การที่แฟ้มลับของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา มีรายชื่อชาวอเมริกันน้อยจนผิดสังเกต ก็ทำให้เกิด “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ว่า การเปิดโปงเอกสารชุดนี้อาจเป็นแผนของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ที่จะบ่อนทำลายศัตรูอย่างรัสเซีย จีน และชาติอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม วอล์กเกอร์ กูเอวารา ชี้ว่า แฟ้มลับ ปานามา เปเปอร์ส มีจำนวนมากมายกว่า 11.5 ล้านฉบับ จึงมีข้อมูลอีกมากที่รอการตรวจสอบ และท้ายที่สุดอาจจะพบว่ามีพลเมืองอเมริกันเกี่ยวข้องมากกว่านี้

กำลังโหลดความคิดเห็น