ไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อนว่า เช้าที่เงียบสงบของเมื่อวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2016 ที่ผ่านมา กรุงบรัสเซลส์ นครหลวงของเบลเยียมซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานและองค์กรสำคัญของทวีปยุโรปหลายแห่ง จะตกเป็นเป้าของการก่อวินาศกรรมครั้งเลวร้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 300 ชีวิตซึ่งเป็นผลพวงมาจากการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตาย 3 รายที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก รวมถึงเอี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อเหตุโจมตีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 130 ศพที่กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หรือเมื่อเพียง 4 เดือนก่อนหน้านี้
จนถึงขณะนี้ ข้อมูลจากการสืบสวนของทางการเบลเยียม ตลอดจน องค์กรตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) สรุปได้ตรงกันในเบื้องต้นว่า เหตุโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อนที่สนามบินบรัสเซลส์ และการโจมตีในรูปแบบเดียวกันอีก 1 ครั้งที่สถานีรถไฟใต้ดินมาลบีค เป็นฝีมือของมือระเบิด 3 ราย ซึ่งประกอบไปด้วยอิบราฮิม เอล บากราอุย กับ นายิม ลาอาชราอุย ที่ลงมือ ณ สนามบินบรัสเซลส์ รวมถึง คาลิด เอล บากราอุย ซึ่งลงมือก่อเหตุที่สถานีรถไฟใต้ดินมาลบีค โดยที่ทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายของกลุ่มไอเอส ที่แฝงตัวอยู่ในยุโรป ที่ก่อนหน้านี้ลงมือก่อเหตุวินาศกรรมช็อกโลกที่กรุงปารีสมาแล้ว
หลังเกิดเหตุ รัฐบาลเบลเยียมซึ่งประกาศจัดการไว้อาลัยเป็นเวลา 3 วันแก่เหยื่อวินาศกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของตน ให้คำมั่นจะเดินหน้ากวาดล้างเครือข่ายก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในประเทศของตนแบบขุดรากถอนโคน
หากจะย้อนดูปูมหลังก่อนที่กรุงบรัสเซลส์จะตกเป็นเป้าของการก่อการร้าย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 รายในครั้งนี้ ก็ต้องบอกว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเบลเยียม ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะเชื้อไฟแห่งการก่อการร้ายซึ่งในที่สุดได้ย้อนกลับมาทำลายล้างและสร้างความสูญเสียแก่ชาวเบลเยียมเอง
หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเบลเยียม คือ ผู้มีส่วนร่วมสำคัญที่มีบทบาทในการเปิดปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอส ในซีเรียและอิรัก ในขณะเดียวกันข้อมูลจากหน่วยงานด้านข่าวกรองของหลายประเทศในยุโรปกลับระบุตรงกันว่า เบลเยียมเป็นประเทศในยุโรปตะวันตกที่มีพลเมืองเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสสูงที่สุด คือ ไม่ต่ำกว่า 440 ราย
ก่อนเกิดเหตุวินาศกรรมกลางกรุงบรัสเซลส์ ทางการเบลเยียมได้เปิดปฏิบัติการกวาดล้าง-ล่าสังหาร-จับกุมสมาชิกเครือข่ายก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในประเทศของตนอย่างแข็งขัน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ความสำเร็จเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ในการบุกเข้าจับกุมซาลาห์ อับเดสลาม ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีร่วมก่อวินาศกรรมกรุงปารีสของฝรั่งเศสเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วซึ่งออกมารับสารภาพหลังโดนรวบตัวว่าตัวเขาและเครือข่ายกำลังร่วมวางแผนก่อเหตุโจมตีนองเลือดขึ้นในเบลเยียม
การจับกุมอับเดสลามกลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนชาวเบลเยียมจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า รัฐบาลของตนมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพลเมืองของตน ซึ่งในที่สุดความเชื่อมั่นนี้ได้ถูกสั่นคลอนอย่างเลวร้ายจากเหตุวินาศกรรม ที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงบรัสเซลส์กับศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งถึง 2 แห่งที่มีระบบรักษาความปลอดภัยชั้นเลิศอย่างสนามบินและระบบรถไฟใต้ดิน ท่ามกลางรายงานข่าวว่า มีผู้ร่วมก่อเหตุรายที่ 4 ซึ่งยังคงหลบหนีลอยนวล และยังไม่สามารถระบุตัวตนได้แน่ชัด
ด้านดิดิเยร์ เรนเดอร์ส รัฐมนตรีต่างประเทศของเบลเยียม ออกมาเปิดเผยว่ามีพลเมืองของ 40 ประเทศอยู่ในบรรดาผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุวินาศกรรมทั้งที่สนามบินบรัสเซลส์และสถานีรถไฟใต้ดินมาลบีค
หลังเกิดเหตุไม่นาน กลุ่มไอเอส ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีสนามบินบรัสเซลส์ และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของเบลเยียมในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนของเมื่อวันอังคาร (22 มี.ค.)
โดยถ้อยแถลงที่พบว่ามีการเผยแพร่ผ่านบัญชีเทเลแกรมอย่างเป็นทางการของกลุ่มนักรบไอเอส ระบุว่า "เราให้สัญญากับพวกพันธมิตรครูเสดต่อต้านรัฐอิสลามว่า พวกเขาจะต้องเผชิญกับวันที่มืดมิด เพื่อชดใช้กับการที่พวกเขารุกรานรัฐอิสลามและกดขี่พี่น้องชาวมุสลิมของเรา"
คำแถลงดังกล่าวมีความสอดคล้องกับรายงานข่าวของสำนักข่าวอามัก ที่ถือเป็น “กระบอกเสียง”และแนวร่วมของกลุ่มไอเอส ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่านักรบกลุ่มนี้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีในกรุงบรัสเซลส์
การโจมตีในคราวนี้ใจกลางเมืองหลวงของเบลเยียม กลายเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้มีการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยทั่วยุโรป รวมถึงในสหรัฐอเมริกา และดึงผู้นำทั่วโลกให้ออกมายืนหยัดเคียงข้างเบลเยียมและประกาศสงครามเต็มรูปแบบต่อภัยก่อการร้าย
หลังเหตุวินาศกรรมในบรัสเซลส์ รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกพากันตื่นตัวยกระดับ หรือทบทวนการรักษาความปลอดภัยสนามบินและศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของตนแบบขนานใหญ่ โดยมาตรการใหม่ที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ล่าสุด มีดังเช่น การเพิ่มการตรวจตราผู้ที่เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร และเพิ่มการลาดตระเวนภายในอาคารผู้โดยสาร
ด้านแมทธิว ฟินน์ กรรมการผู้จัดการของอ็อกเมนติก ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยในการบินระหว่างประเทศออกมายอมรับว่า เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่งยวดที่มีพื้นที่ในสนามบินสำคัญๆ ทั่วโลก เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบเข้มข้นมากพอ ที่จะรับมือกับภัยคุกคามของลัทธิก่อการร้ายสุดโต่งที่กำลังแพร่ระบาดโดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะในสนามบินของยุโรปตะวันตก ถือว่า ค่อนข้างเปิดกว้างและล่อแหลมมากกว่าสนามบินของหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเอกสารและสัมภาระก่อนที่ผู้โดยสารจะได้รับอนุญาตให้ย่างกรายเข้าสู่อาคารสนามบินได้
ขณะที่เบน โวเกล บรรณาธิการของ “ไอเอชเอส เจนส์ แอร์พอร์ต รีวิว” ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มมาตรการตรวจสอบ เช่น การเอ็กซเรย์กระเป๋าที่ทางเข้าอาคารผู้โดยสารอาจทำให้เกิดการติดขัด และความไม่สะดวกต่อบรรดาผู้ใช้บริการสนามบิน รวมถึงอาจทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นเป้าหมายที่สุ่มเสี่ยง ต่อการถูกโจมตีที่มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
ในส่วนของปฏิกิริยาต่อเนื่องจากเหตุวินาศกรรมในบรัสเซลส์นั้น เหล่าผู้นำรัฐบาลทั่วโลกเมื่อวันอังคาร (22 มี.ค.) ต่างสามัคคีกันตบเท้าออกมาร่วมประณามเหตุวินาศกรรมใจกลางเมืองหลวงของเบลเยียมพร้อมประกาศต่อสู้กับภัยก่อการร้าย หลังถูกกลุ่มไอเอส โจมตีเมืองที่ถือเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของยุโรป
ในขณะที่ชาวเบลเยียมกำลังเศร้าโศกต่อเหตุการณ์ดังกล่าว สถานที่สำคัญหลายแห่งของโลก รวมถึงหอไอเฟลของกรุงปารีส และประตูชัยในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี ต่างสว่างไสวไปด้วยแสงไฟสีดำ เหลือง และแดง อันเป็นสีของธงชาติเบลเยียม
ส่วนสหภาพยุโรป (อียู)ประกาศกร้าวจะร่วมเดินหน้าปกป้องประชาธิปไตย และจะต่อสู้กับภัยคุกคามของการก่อการร้ายในทุกรูปแบบที่จำเป็น ตามหลังเหตุโจมตีสนามบินบรัสเซลส์และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่อยู่ห่างจากที่ตั้งสถาบันและองค์กรต่างๆ ของอียูไม่ไกลนัก
ในถ้อยแถลงร่วมที่ไม่พบเห็นกันได้บ่อยครั้งนัก เหล่าผู้นำชาติสมาชิกอียู ระบุว่าการโจมตีกรุงบรัสเซลส์ถือเป็นการจู่โจม “สังคมประชาธิปไตยเสรี” พร้อมระบุว่า การโจมตีครั้งล่าสุดนี้รังแต่จะเพิ่มความมุ่งมั่นของอียูในการปกป้องคุณค่าของยุโรปและเพิ่มความอดทนต่อการโจมตีของพวกสุดโต่งที่ไม่ยอมรับใน “ความเห็นต่าง”
ด้านนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแกร่งแห่งเยอรมนี ออกมาระบุว่า “ความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะก่อการร้ายจะไม่มีวันสิ้นสุด” สอดคล้องกับความเห็นของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ประกาศชัดว่า “เราไม่มีวันที่จะปล่อยให้พวกก่อการร้ายเหล่านี้ได้รับชัยชนะ”
ส่วนประธานาธิบดี บารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงฮาวานาของคิวบา ประณามการโจมตีครั้งนี้ว่า “เลวร้ายจนสุดจะทน” และบอกว่าสหรัฐฯจะทำทุกทางภายใต้อำนาจที่ตนมี เพื่อช่วยเบลเยียม ไล่ล่าหาตัวผู้ก่อเหตุมารับผิดชอบ
ด้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประณามเหตุโจมตีในเบลเยียมคราวนี้ว่าเป็น “อาชญากรรมที่ป่าเถื่อน” หลังจากก่อนหน้านี้เครื่องบินโดยสารแดนหมีขาวถูกลอบวางระเบิดบนเครื่องจนระเบิดกลางอากาศเหนือคาบสมุทรไซนายของอียิปต์เมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 224 ศพโดยที่กลุ่มไอเอสอ้างตัวว่าอยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ดี เหตุวินาศกรรมใจกลางเมืองหลวงของเบลเยียม ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีสของฝรั่งเศสเพียงไม่กี่เดือนได้สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้คน โดยเฉพาะในยุโรป ต่อศักยภาพของกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มไอเอสที่ในเวลานี้ขึ้นแท่นกลายเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงหมายเลขหนึ่งของหลายประเทศทั่วโลกไปแล้ว
ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่า ลำพังเพียงเสียงประณาม และการยกระดับการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลประเทศต่างๆ อาจถูกมองว่าเข้าข่าย “วัวหายแล้วล้อมคอก” ซึ่งคงไม่ช่วยอะไรได้มากนักและคงไม่อาจรับประกันว่าเหตุวินาศกรรมช็อกโลกอย่างที่ปารีสและบรัสเซลส์จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต