xs
xsm
sm
md
lg

“คลินตัน” ชนะอีก 4 รัฐ-“ทรัมป์” คว้ามา 3 “คาสิก” เบียดได้ 1-“รูบิโอ” ยอมยกธงขาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ จอห์น คาสิก ผู้ลงแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เฉลิมฉลองชัยชนะของเขาในการเลือกตั้งขั้นต้นที่โอไฮโอ  โดยที่มี รีส บุตรสาวของเขาอยู่ข้างๆ  ณ งานชุมนุมปราศรัยหาเสียงที่เมืองเบเรีย, โอไฮโอ คืนวันอังคาร (15 มี.ค.)  </i>
เอเจนซีส์ - “คลินตัน” และ “ทรัมป์” เดินหน้ากวาดชัยชนะในศึกเลือกตั้งขั้นต้นครั้งใหญ่ “ซูเปอร์ ทิวสเดย์รอบ 2” เมื่อวันอังคาร (15 มี.ค.) ตอกย้ำสถานะตัวเก็งที่จะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในศึกชิงทำเนียบขาวปลายปีนี้ของทั้งคู่ ขณะที่ความพ่ายแพ้ในบ้านตัวเองของ “รูบิโอ” นอกจากทำให้เจ้าตัวถอดใจแล้ว ยังทำให้บรรดาผู้นำรีพับลิกันแทบสิ้นหวังในการสกัดเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ปากจัด ซึ่งอาจนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของรีพับลิกันทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดี ไล่ไปถึงผู้ว่าการรัฐ วุฒิสมาชิก และ ส.ส.

ในการเลือกตั้งขั้นต้นที่จัดขึ้นในหลายรัฐพร้อมกันเมื่อวันอังคาร (15) โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะในนอร์ทแคโรไลนา อิลลินอยส์ และฟลอริดา ส่งผลให้เจ้าถิ่นอย่างมาร์โค รูบิโอ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากฟลอริดา ต้องประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายนในทันที จึงยังคงเหลือผู้แข่งขันเพียง 3 คน คือ ทรัมป์, วุฒิสมาชิก เท็ด ครูซ จากเทกซัส และจอห์น เคสิก ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ที่เก็บชัยในบ้านสำเร็จและถือเป็นชัยชนะครั้งแรกนับจากที่มีการเลือกตั้งขั้นต้นเมื่อต้นปี

ทรัมป์กลายเป็นผู้สมัครของรีพับลิกันเพียงคนเดียวที่มีแววได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนครบ 1,237 คนเพื่อให้ได้เป็นผู้สมัครของพรรคอย่างไร้ข้อกังขาก่อนถึงวันประชุมใหญ่พรรคเดือนกรกฎาคมนี้ กระนั้น ความพ่ายแพ้ของเขาในโอไฮโอทำให้สมาชิกกระแสหลักของรีพับลิกันยังพอมีหวังว่าอาจเหลือหนทางเล็กๆ ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจพันล้านผู้นี้จบเห่ในวันประชุมใหญ่พรรค
<i>ฮิลลารี คลินตัน ตัวเก็งของทางฝั่งพรรคเดโมแครต  เบิกบานยิ้มแย้มขณะขึ้นเวทีหาเสียงของเธอใน เวสต์ปาล์มบีช, รัฐฟลอริดา วันอังคาร (15)  โดยในการเลือกตั้งขั้นต้น “ซูเปอร์ ทิวสเดย์ รอบ2” เธอชนะอย่างน้อย 4 รัฐแล้ว  เหลือ มิสซูรี ซึ่งคะแนนคู่คี่กับ เบอร์นี แซนเดอร์ส </i>
<i>ในการรณรงค์หาเสียงที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา วันอังคาร (15) เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากมลรัฐเวอร์มอนต์  ซึ่งเป็นผู้ชิงชัยกับ ฮิลลารี คลินตัน อีกคนเดียวที่เหลืออยู่ ในการแข่งขันเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตลงชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ หยุดเล็กน้อยขณะกล่าวปราศรัยพูดถึงผลการเลือกตั้งขั้นต้นในวันนั้น ซึ่งเขาพ่ายแพ้ใน 4 รัฐ และทำคะแนนตีคู่กับคลินตันโดยไม่ยังสามารถตัดสินได้ที่รัฐมิสซูรี </i>
ในส่วนพรรคเดโมแครต ฮิลลารี คลินตัน มั่นใจมากขึ้นอีกเมื่อมีชัยในอีกอย่างน้อย 4 มลรัฐ และถือโอกาสระหว่างประกาศชัยชนะโจมตีทรัมป์ ว่าที่คู่ต่อสู้ในศึกชิงทำเนียบขาวว่า ผู้นำต้องสามารถปกป้องประเทศ ไม่ใช่ทำให้ประเทศขายหน้า

การวิจารณ์ดังกล่าวได้รับการตอกย้ำจากรูบิโอระหว่างประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน โดยวุฒิสมาชิกจากฟลอริดาผู้นี้เรียกร้องชาวอเมริกันไม่ให้ยอมพ่ายแพ้ต่อความกลัวหรือความสับสน

รูบิโอ แคนดิเดตคนโปรดของเหล่าผู้นำรีพับลิกัน เป็นเหยื่อรายล่าสุดของการเลือกตั้งอันคาดเดาได้ยากเหลือเกินของปีนี้ รวมทั้งความสามารถของทรัมป์ในการฉวยความโกรธขึ้งของประชาชนที่มีต่อเหล่าชนชั้นนำในวอชิงตันและความไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มาสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง

ขณะเดียวกัน ชัยชนะของคลินตันในรัฐโอไฮโอ ฟลอริดา นอร์ทแคโรไลนา และอิลลินอยส์ ทำให้สถานะของคู่แข่งของเธอในพรรค ซึ่งยังเหลืออยู่เพียงคนเดียวคือ เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐเวอร์มอนต์ สั่นคลอนอย่างรุนแรง

คลินตันยังคงเป็นขวัญใจคนผิวสี ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของเดโมแครต ทั้งนี้ เอ็กซิตโพลล์ระบุว่า แม้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่เชียร์เดโมแครตมีแนวโน้มมองว่าแซนเดอร์สซื่อสัตย์ แต่ส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายของคลินตันเป็นจริงมากกว่า

สำหรับที่มิสซูรี อีกรัฐเดียวที่นับคะแนนยังไม่เสร็จใน “ซูเปอร์ ทิวสเดย์ 2” คราวนี้ เอ็กซิตโพลล์ระบุว่า คะแนนคู่คี่มากทั้งในระหว่างทรัมป์กับครูซ ของรีพับลิกัน และระหว่างคลินตันกับแซนเดอร์ส ของเดโมแครต โดยห่างกันไม่ถึง 0.5% ซึ่งหมายความว่าผู้แพ้สามารถร้องขอให้นับคะแนนใหม่ได้
<i>วุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากมลรัฐฟลอริดา มาร์โค รูบิโอ ประกาศหยุดการรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี  ระหว่างการชุมนุมของผู้สนับสนุนเขาที่เมืองไมอามี, รัฐฟลอริดา วันอังคาร (15) ภายหลังที่ผลการเลือกตั้งขั้นต้นออกมาว่า เขาพ่ายแพ้ต่อ ทรัมป์ แม้กระทั่งในฐานเสียงของเขาอย่างฟลอริดา </i>
<i>โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวเก็งที่จะได้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน  ยืนอยู่ระหว่าง คอรีย์ เลวานโดวสกี้ ผู้จัดการทีมรณรงค์หาเสียงของเขา (ซ้าย) และ อีริก บุตรชายของเขา (ขวา) ขณะที่เขาแถลงข่าว ณ สโมสร มาร์-เอ-ลาโก ของเขาในเมืองปาล์มบีช รัฐฟลอริดา เมื่อวันอังคาร (15)  ทรัมป์ชนะที่ฟลอริดา, นอร์ทแคโรไลนา, และอิลลินอยส์  ทว่าพ่ายแพ้ที่โอไฮโอ  ขณะที่มิสซูรี เขาทำคะแนนคู่คี่มากับ เทด ครูซ </i>
ทรัมป์นั้นเข้าสู้ศึกเลือกตั้งขั้นต้น 4 มลรัฐในวันอังคาร ท่ามกลางเสียงโจมตีกึกก้องที่สุดครั้งหนึ่งนับแต่เริ่มหาเสียง จากการที่เขาเรียกร้องให้พวกผู้สนับสนุนของเขาเผชิญหน้ากับกลุ่มต่อต้าน ซึ่งทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุชุลมุนที่ชิคาโกเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วจนทรัมป์ต้องยกเลิกงานหาเสียงที่เวทีนั้น

บรรยากาศความตึงเครียดดังกล่าวทำให้สมาชิกรีพับลิกันกังวลมากขึ้น รูบิโอและเคซิกเอ่ยปากว่า อาจทำใจสนับสนุนทรัมป์ไม่ลง หากเขาได้เป็นตัวแทนพรรค

ส่วนคู่แข่งที่มีคะแนนใกล้เคียงทรัมป์ที่สุดคือ ครูซ เฝ้าเรียกร้องให้ผู้สมัครคนอื่นๆ ถอนตัวเพื่อให้ตนได้ต่อสู้แบบตัวต่อตัวกับอดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ผู้นี้

การที่ทรัมป์สามารถสะสมคะแนนจนทิ้งห่างคู่แข่งคนอื่นๆ ในพรรคไปเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมในรีพับลิกันนั่งไม่ติด และนัดถกกันในวันพฤหัสบดี (17) เกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการในระหว่างการประชุมใหญ่พรรคที่จะมีการลงคะแนนเลือกตัวแทนลงสมัครประธานาธิบดี

ตามกฎของรีพับลิกันนั้น หากผู้สมัครมีตัวแทนผู้ลงคะแนนไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด พรรคมีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตอีกคนเพื่อให้สมาชิกตัดสินใจเลือกเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการในการสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างการประชุมใหญ่พรรคเดือนกรกฎาคมที่คลีฟแลนด์

กระนั้น ทางเลือกดังกล่าวอาจเสี่ยงทำให้รีพับลิกันสูญเสียชาวอเมริกันหลายล้านคนที่สนับสนุนทรัมป์

ในทางกลับกัน แม้บรรดาผู้นำในพรรคพากันกลุ้มอกกลุ่มใจ เนื่องจากกลัวว่าทรัมป์อาจไม่ได้พาพรรคพ่ายแพ้แค่ศึกทำเนียบขาว แต่ยังอาจรวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ สมาชิกสภาสูง และสภาผู้แทนฯ ด้วย ทว่า ในสายตาผู้มีสิทธิออกเสียงที่สนับสนุนรีพับลิกันกลับถูกอกถูกใจข้อเสนอที่สร้างความขัดแย้งที่สุดของทรัมป์ โดย 2 ใน 3 ที่ร่วมในการเลือกตั้งขั้นต้นเมื่อวันอังคารบอกว่าสนับสนุนมาตรการห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกาชั่วคราว

จากผลที่ออกมาแล้วในวันอังคาร (15) ทำให้เวลานี้ทรัมป์มีตัวแทนผู้ลงคะแนนรวม 621 คน, ครูซ 396 คน และเคสิก 138 คน

สำหรับคลินตันมีตัวแทนผู้ลงคะแนนแล้วอย่างน้อย 1,561 คน ซึ่งรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้นำพรรคที่มีอิสระในการสนับสนุนผู้สมัครตามต้องการ ส่วนแซนเดอร์สได้อย่างน้อย 800 คน จากคะแนนที่ต้องการเพื่อให้ได้เป็นตัวแทนพรรค 2,383 คน

และหลังการเลือกตั้งในวันอังคาร ทรัมป์ต้องการตัวแทนผู้ลงคะแนนอีกราว 54% จากตัวแทนผู้ลงคะแนนที่ยังเหลือให้แย่งชิงราว 1,100 คน ซึ่งใช่ว่าจะยากเย็นนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากรัฐที่ผู้ชนะจะสามารถได้ตัวแทนผู้ลงคะแนนไปทั้งหมดอย่างแอริโซนาที่มีตัวแทนผู้ลงคะแนน 58 คน และนิวเจอร์ซีย์ที่มี 51 คน

กำลังโหลดความคิดเห็น