xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ยูเอ็นกังวลเฮติเลื่อนเลือกตั้ง ปธน. วอนเร่งคืนกระบวนการประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกโรงแสดงความกังวลในวันเสาร์ (23 ม.ค.) พร้อมเรียกร้องให้เฮติจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยไม่รั้งรอ หลังจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเฮติประกาศเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ออกไปแบบไม่มีกำหนด โดยอ้างความกังวลด้านความไม่ปลอดภัย

รายงานข่าวซึ่งอ้างคำแถลงของบันที่ถูกเผยแพร่ผ่านโฆษกระบุว่า เลขาธิการยูเอ็นเรียกร้องอย่างแข็งขันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในเฮติเร่งร่วมมือกันผลักดันการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ ผ่านกระบวนการเลือกตั้งโดยไม่รั้งรอ พร้อมขอให้บรรดากลุ่มการเมืองในเฮติปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบและยุติการกระทำใดๆ ที่จะขัดขวาง “กระบวนการประชาธิปไตย” และการสร้างเสถียรภาพในประเทศ

ข้อเรียกร้องของบันมีขึ้นเพียง 1 วันหลังจากที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีของเฮติ ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (24 ม.ค.) ถูกทางปิแอร์-หลุยส์ โอปองต์ ประธานสภาเลือกตั้งกลาง (ซีอีพี) ของเฮติ ประกาศเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนดด้วยเหตุผลด้านความไม่ปลอดภัย โดยระบุมีว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานของตนถูกทำร้าย ขณะที่หน่วยเลือกตั้งหลายแห่งก็ถูกโจมตี ขณะที่ทางวุฒิสภาของเฮติก็ประสานเสียงตอบรับท่าทีดังกล่าวที่ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ออกไป

ที่ผ่านมา ฝ่ายค้านของเฮติได้กล่าวหามาตลอดว่า ประธานาธิบดีมิเชล มาร์เตลลี ที่กำลังจะพ้นอำนาจพยายามใช้กลโกงทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ผู้สืบทอดอำนาจที่เขาเลือกมาเองกับมืออย่างโชเวแนล มัวส์ เป็นฝ่ายได้เปรียบในการเลือกตั้งรอบชี้ขาดในวันอาทิตย์ (24)

ก่อนหน้านี้ผลสำรวจความคิดเห็นในเฮติ บ่งชี้ บรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงชาวเฮติ มีความกังขาและไม่เชื่อถือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกที่จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่สนับสนุนข้อเรียกร้องของพรรคฝ่ายค้านที่เสนอให้มีการนับคะแนน ใหม่ หลังผู้สมัครฝ่ายรัฐบาลได้คะแนนมาเป็นที่หนึ่งแบบน่าเคลือบแคลง

ทีมนักวิจัยจากสถาบันอิการาเป ซึ่งมีฐานอยู่ในบราซิล ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวเฮติชุดเดียวกับที่เข้าร่วมการสำรวจผลเอ็กซิตโพล ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเฮติรอบแรกเมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยผลสำรวจที่มีการเผยแพร่ในวันที่ 19 พ.ย.พบว่า กลุ่มตัวอย่างชุดเดียวกันเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งรอบแรกที่มีการประกาศไปเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น เป็นผลการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ทั้งที่ในวันที่มีการสำรวจเอ็กซิตโพล คือ 25 ต.ค.นั้น กลุ่มตัวอย่างชุดเดียวกันนี้ราว 82 เปอร์เซ็นต์แสดงความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ปราศจากกลโกงและการเล่นสกปรกทางการเมือง เพื่อบิดเบือนผลการลงคะแนนของประชาชน

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเฮติรอบแรกที่มีการประกาศออกมา ได้สร้างความกังขาให้แก่ประชาชนไม่น้อย หลังจากที่โชเวแนล มัวส์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งของฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายได้คะแนนนำมาเป็นอันดับที่ 1 โดยได้คะแนนเสียงถึงเกือบ 33 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆที่ผลสำรวจคะแนนนิยมของหลายสำนักก่อนหน้านี้ต่างระบุตรงกันว่า ผู้สมัครที่ถือเป็นทายาททางการเมืองของประธานาธิบดีมิเชล มาร์เตลลี รายนี้ มีคะแนนนิยมต่ำเตี้ยเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ทางการเฮติประกาศให้มัวส์เป็นผู้ชนะในรอบแรก ด้วยคะแนนเสียงเกือบ 33 เปอร์เซ็นต์ส่งผลให้นักธุรกิจดังซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อนผู้นี้ จะได้สิทธิ์ลงแข่งขันในการเลือกตั้งผู้นำเฮติรอบชี้ขาด กับ ชูเด เซเลสแต็ง อดีตประธานบริษัทก่อสร้างของรัฐ ที่พ่ายแพ้แบบน่ากังขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2010 และเป็นผู้ที่ได้คะแนนในรอบแรกมาเป็นอันดับที่ 2

โรเบิร์ต มูกกาห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันอิการาเป ออกมาให้ความเห็นว่าผลสำรวจของสถาบันของตนที่มีการเผยแพร่ออกมาล่าสุด ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดปกติหรือความไม่ชอบมาพากลใดๆ เกิดขึ้น กับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเฮติในรอบแรก แต่ยอมรับว่ามีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมต่อกระบวนการนับคะแนน

ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้จัดการชุมนุมประท้วงหลายครั้ง ต่อผลการเลือกตั้งรอบแรกที่มีการประกาศไปเมื่อ 5 พ.ย. โดยเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ และมีรายงานว่า การชุมนุมประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนหลายพันคนในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศ มีอันต้องถูกสลายโดยกองกำลังตำรวจปราบจลาจลที่ระดมยิงแก๊สน้ำตา และกระสุนยางเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง

ที่ผ่านมา พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดีมาร์เตลลี ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในเรื่องการโกงผลเลือกตั้ง รวมถึงปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านที่ต้องการให้มีการนับคะแนนใหม่ด้วย เช่นกัน

ทั้งนี้ คณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States : OAS) ยอมรับก่อนหน้านี้ว่า ตรวจพบ “ความผิดปกติบางประการ” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเฮติรอบแรก แต่ยืนยันว่า ผลการเลือกตั้งที่มีการประกาศออกมาเมื่อ 5 พ.ย.นั้น สอดคล้องกับผลการสังเกตการณ์ของโอเอเอส ในวันเลือกตั้งจริงเมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา





กำลังโหลดความคิดเห็น