เอเอฟพี - สหรัฐฯ และจีนเห็นชอบร่างมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่ และเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อโหวตภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
นักการทูตกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า วอชิงตันได้ส่งร่างมติให้แก่สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เมื่อวันพุธ (24 ก.พ.) และเตรียมจะเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีเต็มคณะ 15 ชาติ ในเร็วๆ นี้
“กระบวนการร่างมติคว่ำบาตรมีความคืบหน้าไปมาก และเราหวังว่าคงจะประกาศใช้ได้ในอีกไม่กี่วัน” นักการทูตคนหนึ่งเผย
คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้เริ่มประชุมกันเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อนเพื่อร่างมติลงโทษ หลังเกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา และยังอ้างว่าสิ่งที่นำมาทดลองนั้นคือ “ระเบิดไฮโดรเจน” ซึ่งเป็นอาวุธนิวเคลียร์ความร้อนที่มีอานุภาพร้ายแรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์ธรรมดาหลายเท่า
“ก่อนหน้านี้ มีอยู่หลายประเด็นที่ทั้งสองชาติ (สหรัฐฯ และจีน) เห็นไม่ตรงกัน... แต่ท้ายที่สุดก็สามารถประนีประนอมกันได้” นักการทูตคนเดิมกล่าว
จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลังพูดคุยกับ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันอังคาร (23) โดยระบุว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากร่างมตินี้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม มันจะเป็นบทลงโทษที่หนักยิ่งกว่าทุกครั้ง”
นักการทูตประจำคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นคนหนึ่งระบุว่า ร่างมติ “มีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง” ขณะที่นักการทูตอีกคนยืนยันว่า มติยูเอ็นคราวนี้ “เต็มไปด้วยบทลงโทษที่เจ็บแสบ” รวมถึงรายชื่อบุคคลที่จะถูกขึ้นบัญชีดำเพิ่มเติม
สหรัฐฯ พยายามผลักดันให้ยูเอ็นสั่งห้ามเรือสัญชาติเกาหลีเหนือเข้าเทียบเท่าเรือทั่วโลก แต่ก็ถูกปักกิ่งค้านว่ารุนแรงเกินไป
แม้จะไม่พอใจที่เปียงยางยังดื้อรั้นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่ลดละ แต่จีนก็ไม่ต้องการให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในเกาหลีเหนือล่มสลาย เพราะนั่นอาจทำให้สองเกาหลีรวมตัวกลายเป็นประเทศพันธมิตรขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่อยู่ประชิดพรมแดนจีน
คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นยังเรียกร้อง “มาตรการตอบโต้ที่ชัดเจน” หลังเกาหลีเหนือยิงจรวดพิสัยไกลที่อ้างว่าเป็นการส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
เปียงยางเคยถูกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นคว่ำบาตรมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อปี 2006
ปัจจุบันมีนิติบุคคลของเกาหลีเหนือ 20 แห่ง และบุคคลอีก 12 ราย ที่ถูกยูเอ็นขึ้นบัญชีดำอายัดทรัพย์สิน และห้ามเดินทางทั่วโลก