xs
xsm
sm
md
lg

ICAO ประกาศห้ามนำ “แบตเตอรีลิเธียมไอออน” โหลดสัมภาระขึ้นเครื่องบินโดยสาร-เสี่ยงเกิดเพลิงไหม้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ออกประกาศวานนี้ (22 ก.พ.) ห้ามนำแบตเตอรีลิเธียมไอออนโหลดสัมภาระขึ้นเครื่องบินโดยสาร เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้

ICAO ระบุว่า มาตรการนี้จะใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการออกมาตรฐานการบรรจุหีบห่อเพื่อป้องกันเพลิงไหม้สำหรับแบตเตอรีลิเธียมภายในปี 2018

อย่างไรก็ดี คำสั่งห้ามซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ไม่ได้รวมถึงแบตเตอรีลิเธียมไอออนในคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่ผู้โดยสารหรือลูกเรือนำติดตัวขึ้นเครื่อง

“คำสั่งห้ามชั่วคราวจะมีผลบังคับ ระหว่างที่ ICAO เตรียมร่างระเบียบข้อบังคับว่าด้วยบรรจุภัณฑ์สำหรับแบตเตอรีลิเธียม ซึ่งน่าจะประกาศใช้ได้ภายในปี 2018” ดร. โอลูมูยิวา เบนาร์ด อาลิว ประธานสภา ICAO ระบุในถ้อยแถลง

แม้คำสั่งห้ามนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ประเทศส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO

ที่ผ่านมา ICAO ได้รับการร้องขอจากสายการบินและสมาคมนักบินทั่วโลกให้ออกคำสั่งห้ามเครื่องบินโดยสารขนส่งแบตเตอรีลิเธียม โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย และก่อนหน้านี้ก็มีหลายสายการบินที่ประกาศนโยบายไม่รับขนแบตเตอรีลิเธียมแล้ว

แบตเตอรีลิเธียมไอออนที่เกิดความร้อนจัดเคยก่อความเสี่ยงร้ายแรงทางการบินมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้นบนเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์

ดรีมไลเนอร์ของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส ลำหนึ่งเกิดเพลิงไหม้กล่องแบตเตอรี่ขณะจอดอยู่ที่สนามบินโลแกนในเมืองบอสตัน เมื่อเดือน ม.ค. ปี 2013 ส่วนกรณีที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ปีเดียวกัน โดยกัปตันผู้ควบคุมเครื่องบิน ออล นิปปอน แอร์เวย์ส (ANA) จากเมืองอูเบะทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่นเพื่อไปยังกรุงโตเกียว ต้องนำเครื่องลงจอดอย่างกะทันหันที่เมืองทากามัตสึ หลังเกิดกลิ่นเหม็นไหม้คละคลุ้งภายในห้องนักบิน ซึ่งเมื่อตรวจสอบก็พบว่ากล่องแบตเตอรี่มีอุณหภูมิพุ่งสูงจนไฟลุกไหม้

เหตุระทึกทั้ง 2 ครั้งส่งผลให้เครื่องบินดรีมไลเนอร์ถูกสั่งห้ามบินทั่วโลกเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน

เมื่อต้นเดือนนี้ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้ประกาศเตือนความเสี่ยงที่จะเกิดการ “ระเบิดอย่างรุนแรง” สำหรับแบตเตอรีลิเธียมไอออนที่โหลดเป็นสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน

ผลการทดสอบของ FAA พบว่า ระบบดับเพลิง (fire-suppression systems) ของเครื่องบินไม่สามารถป้องกันการระเบิดที่รุนแรงเช่นนั้นได้ รวมถึงแบตเตอรี่ในโทรศัพท์มือถือหรือแล็ปท็อป

ปัจจุบันแบตเตอรีลิเธียมไอออนถูกใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภท ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปเรื่อยไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น