เอเจนซีส์ / MGR online - กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูนิเซฟ เตือนเด็กเกือบ 1 ล้านคนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้กำลังทนทุกข์กับภาวะขาดอาหารขั้นรุนแรงซึ่งเป็นผลพวงจากภัยแล้งที่กำลังจะทำให้ยอดผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มจำนวนขึ้นอีกหลายล้านคน
ในวันพุธ (17 ก.พ.) เลลา การากอซลู ปัคคาลา ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ เตือนว่าเด็กๆ ในภูมิภาคกำลังเผชิญกับภาวะความอดอยากแบบสุดขั้ว จากภาวะความขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำดื่ม รวมถึงราคาจำหน่ายสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น
รายงานล่าสุดของทางยูนิเซฟยังระบุด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเร่งเดินหน้าจัดหาความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวที่ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปรากฏการณ์เอล นีโญ
ทั้งนี้ ทางยูนิเซฟได้ตั้งเป้ายอดเงินบริจาคที่คาดว่าจะต้องนำไปใช้ในภารกิจนี้ในภูมิภาคแอฟริกากลางและแอฟริกาาตะวันออกเอาไว้ที่ 155 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ แต่ทางยูนิเซฟเพิ่งจัดหาเงินช่วยเหลือมาได้เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ของยอดดังกล่าวเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกโรงเตือนในวันจันทร์ (15 ก.พ.) โดยระบุว่าผู้คนกว่า 49 ล้านคนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งจัดในปีนี้
รายงานฉบับล่าสุดของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Food Program : WFP) ที่มีการเผยแพร่ในวันจันทร์ (15) ระบุว่าประชาชนราว 40 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทของประเทศต่างๆ ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ถือเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งจัดในปีนี้
นอกจากนั้น รายงานฉบับล่าสุดนี้ยังระบุว่า ผู้ที่สุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบยังรวมถึง “คนจนในเขตเมือง” อีก 9 ล้านคนในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งแสนสาหัสในปี 2016 นี้ โดยที่ในจำนวนนี้มีกว่า 14 ล้านคนที่เริ่มเผชิญกับภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารและน้ำที่เป็นผลพวงจากภัยแล้งในภูมิภาคแห่งนี้บ้างแล้ว
รายงานของโครงการอาหารโลกระบุว่า ภาวะความแห้งแล้งรุนแรงในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ในปีนี้เป็นผลพวงโดยตรงจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 35 ปี ซึ่งทำให้ภูมิภาคนี้ของกาฬทวีปเผชิญกับภาวะฝนแล้งที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา สวนทางกับสภาพอากาศร้อนจัดที่ผลักอุณหภูมิให้พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี
และเมื่อไม่มีฝน รายงานของโครงการอาหารโลกระบุว่า บรรดาพืชพรรณและผลิตผลทางการเกษตรทั้งหลายโดยเฉพาะข้าวและข้าวโพดต่างได้รับความเสียหาย กระทบต่อห่วงโซ่อาหารของประชากรนับล้านในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลายประเทศ ทั้ง เลโซโท สวาซิแลนด์ แซมเบีย ซิมบับเว มาลาวี แอฟริกาใต้ อังโกลา โมซัมบิก นามิเบีย และบอตสวานา