xs
xsm
sm
md
lg

โอนเงินล่วงหน้าให้ รพ.เพื่อเสริมสภาพคล่อง ยึดตามระเบียบ นพ.ประทีป ไม่ใช่ผู้บริหารที่ดูแลการบริหารกองทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช.

กรณีบทความของ อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เรื่อง ความไม่รู้หรือความจงใจในการลงบัญชีที่ไม่ถูกต้องที่ สปสช.? นั้น สปสช. ขอชี้แจงดังนี้

สปสช. ไม่เคยกระทำการจงใจลงบัญชีที่ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ กรณีที่ระบุว่า “น่าจะเข้าลักษณะแต่งบัญชี ที่วงการบัญชีเรียกว่า Creative Accounting” ก็ไม่เป็นความจริงอีก ข้อกล่าวหาที่นำไปโยงเรื่องการแต่งบัญชีนั้น เป็นประเด็นที่ สปสช. เคยชี้แจงหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังมีความพยายามนำเรื่องเดิมที่เป็นการบิดเบือนกลับมาโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ครั้งนี้ก็นำมาเผยแพร่ในช่วงใกล้วันสรรหาเลขาธิการ แต่ไม่ว่าจะนำมาบิดเบือนอย่างไร ข้อเท็จจริงคือ

การที่ สปสช. โอนเงินในหมวดบริการกรณีเฉพาะ (Central Reimbursement) ให้ รพ. 250 แห่ง พร้อมกันในวันที่ 27 กันยายน 2555 นั้น ไม่ใช่การเร่งจ่ายเงินเพื่อปั้นผลงานให้เข้ากับ KPI ไม่ใช่การโอนเงินโดยไม่มีหลักเกณฑ์ และไม่มีการบิดเบือนบัญชีให้ลงเป็นรายรับทั้งที่เกณฑ์บัญชีคงค้างต้องถือว่าหนี้ และไม่เป็นอะไรอีกหลายข้อตามที่บทความนี้ระบุ

ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สปสช. ได้รับการตรวจสอบจาก สตง. เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว หากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง คือ สปสช. ทำผิดระเบียบ หรือ จงใจที่จะลงบัญชีโดยไม่มีหลักเกณฑ์ตามระเบียบ สตง. คงตรวจพบและเรียกร้องให้แก้ไขแล้ว

แต่ความเป็นจริง คือ สปสช. ทำตามระเบียบที่กำหนดทุกอย่าง การโอนเงินในหมวดดังกล่าวนั้น เป็นไปตามประกาศให้โอนเงินล่วงหน้าให้กับหน่วยบริการในปี 2555 เนื่องจากการออกแบบการจัดสรรงบประมาณล่วงหน้า และเกิดขึ้นหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรเชิญ สปสช. ไปชี้แจงว่าได้รับคำร้องเรียนเรื่องสภาพคล่องของหน่วยบริการ จึงแก้ปัญหาให้โอนเงินล่วงหน้าให้ รพ. ไปก่อน หลังจากนั้น เมื่อให้บริการแล้วจึงจะนำผลงานที่ได้ไปหักจากวงเงินที่โอนไปล่วงหน้า เช่น รพ. A ที่ได้รับเงินจัดสรรล่วงหน้าไป 22.95 ล้านบาท ในหมวดเงินอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (AE/HC) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 และเมื่อครบระยะเวลาการส่งข้อมูลแล้ว จะเห็นว่าในวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ผลงานของ รพ. A ทำได้ 23.93 ล้านบาท สปสช. ก็นำเงินที่เคยจ่ายล่วงหน้าไปให้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 จำนวน 22.95 ล้านบาท มาหักรวมกับส่วนอื่นที่ได้จ่ายล่วงหน้าไปด้วย จึงเหลือเงินที่จะโอนให้กับ รพ. A ในวันที่ 28 ธันวาคม 2555 จำนวน 58,177.78 บาท ซึ่งทุกหน่วยงานที่มีการโอนเงินไปล่วงหน้าล้วนดำเนินการแบบนี้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ในระเบียบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หัวข้อการโอนเงินให้หน่วยบริการนั้น ซึ่งมีทั้งการโอน และการหักลบกลบหนี้ที่เกิดจากผลการบริการ การจ่ายเงินเบื้องต้นจำแนกเป็นรายหน่วยบริการ เพื่อให้หน่วยบริการทราบความเคลื่อนไหวการบริหารเงินกองทุน

เงินที่ สปสช. จ่ายเบื้องต้นให้กับหน่วยบริการ หน่วยบริการนั้นจะถูกบันทึกเป็นลูกหนี้ในระบบบัญชีของกองทุน เมื่อหน่วยบริการส่งผลงานเพื่อขอเบิกชดเชยค่าบริการทางการแพทย์มายัง สปสช. สปสช. จะทำการประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการ แต่ตราบใดที่รายได้ของหน่วยบริการยังไม่สามารถล้างภาระลูกหนี้ของหน่วยบริการนั้น ระบบการโอนเงินของ สปสช. จะทำการชะลอการจ่ายไปจนกว่ารายได้ที่หน่วยบริการได้รับสูงกว่าหนี้ที่ตั้งไว้ จึงทำการหักรายได้สะสมไปเรื่อย ๆ จนเท่ากับเงินที่จ่ายเบื้องต้นไป แล้วจ่ายเพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากยอดที่กระทบหนี้สินแล้ว มิได้มีขั้นตอนโอนเงินกลับมาจากหน่วยบริการ

ขอย้ำประเด็นนี้อีกครั้งว่า การตั้งหน่วยบริการต่าง ๆ เป็นลูกหนี้ไว้ในระบบบัญชีของกองทุนฯ หลังจากนั้นเมื่อหน่วยบริการต่าง ๆ สรุปรายงานการรักษาและเรียกเก็บมายังกองทุน สปสช. จะชะลอการโอนเงิน โดยบันทึกบัญชีตั้งหน่วยบริการต่าง ๆ เป็นเจ้าหนี้ไว้ จนได้ครบตามหนี้ที่ตั้งไว้ของแต่ละหน่วยบริการ จากนั้นจึงหักลบกลบหนี้ในระบบบัญชี และถ้าการหักลบกลบหนี้ครั้งนี้ หน่วยบริการใดมีผลงานมากกว่าหนี้ที่ตั้งไว้ สปสช. ก็จะโอนเงินเพิ่มเติมให้ ไม่ใช่การให้หน่วยบริการโอนเงินคืน แต่นำมาหักกลบยอดการโอนเงินให้กับหน่วยบริการ

ซึ่งตรงนี้ ดร.อานนท์ ระบุไว้ว่า “สปสช. ยังอาจจะโต้แย้งอีกว่า ไม่ได้เรียกเงินคืน หักออกจากยอดเงินที่ทำการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง อันนี้เป็นเรื่องจริง เพราะโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขไม่มีเงินพอที่จะจ่ายคืน สปสช. แต่ สปสช.ใช้วิธีหักเงินออกจากเงินงวดใหม่ที่จะจ่ายอื่น ๆ ซึ่งก็เท่ากับการเรียกคืนอยู่ดี และเป็นการหักข้ามหมวดด้วย เช่น ไปหักออกจากเงิน OPD, IPD เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลของประชาชน”

ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า สปสช. ดำเนินการตามกฎหมาย ประกาศ และระเบียบภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณที่มีอยู่ ประเด็นที่ว่า การหักข้ามหมวดนั้นจะส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลของประชาชน ตามที่ ดร.อานนท์ ระบุมาหรือไม่นั้น สปสช. ไม่ขอก้าวล่วงบทบาทของหน่วยบริการ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นว่าไปกระทบเรื่องมาตรฐานการรักษาของ รพ. ที่แต่ละ รพ. ดำเนินการอย่างเข้มข้นตามมาตรฐาน HA อยู่แล้ว

แต่บทบาทเรื่องการจัดสรรเงินนี้ สปสช. ทำอะไรเกินกว่าที่กฎหมาย ระเบียบ กำหนดไม่ได้ อย่างที่รับทราบกันดีว่า สปสช. นั้น ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ตรวจทุกปีโดย สตง. และตรวจสอบจากสื่อมวลชน จากบุคคลและนักวิชาการที่สนใจ เช่น ดร.อานนท์ เป็นต้น ถ้าจะเหมารวมว่า ถึงไม่เรียกเงินคืน แต่วิธีการหักเงิน ก็เหมือนเรียกเงินคืนอยู่ดีนั้น สปสช. ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะระเบียบกำหนดมาแบบนี้ ถ้าทำเกินระเบียบก็ผิดอีก

ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่า “สปสช. บิดเบือนบัญชี จะให้ลงบัญชีเป็นรายรับ” และ “สปสช. ทักท้วงว่าโรงพยาบาลบันทึกบัญชีผิดเป็นหนี้สินแต่ต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้” นั้นก็ไม่เป็นความจริง ตามที่ชี้แจงข้างบน คือ “หน่วยบริการนั้นจะถูกบันทึกเป็นลูกหนี้ในระบบบัญชีของกองทุน” สปสช. ไม่เคยบอกว่าเงินที่โอนให้ล่วงหน้าให้หน่วยบริการนั้น ให้หน่วยบริการลงบัญชีเป็นรายรับแต่อย่างใด
อีกเรื่องที่ข้อมูลผิดพลาดอย่างมากจนอดคิดไม่ได้ว่า จงใจให้ข้อมูลเท็จเพื่อให้ดิสเครดิตหรือไม่ คือ เรื่องความรับผิดชอบของรองเลขาธิการ ซึ่ง ดร.อานนท์ ระบุว่า เป็น นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ นั้น เป็นข้อมูลเท็จ ข้อเท็จจริงผู้บริหารที่ดูแลเรื่องนี้ คือ ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช

ขณะที่เรื่องผลกระทบต่อโบนัสของ สปสช. นั้น เนื่องจากข้อมูลจากบทความของ ดร.อานนท์ นั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ผิด โดยกล่าวหาว่า สปสช. เร่งจ่ายเงินโดยไม่มีหลักเกณฑ์เพื่อต้องการทำผลงานให้ได้ตามตัวชี้วัดที่จะได้รับโบนัส เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การที่โอนเงินล่วงหน้าให้หน่วยบริการนั้น เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้หน่วยบริการ ซึ่งเป็นข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขเอง
ทั้งนี้ ณ เวลาที่คิดแก้ปัญหา ไม่มีใครคิดว่าต้องเร่งโอนเพื่อทำผลงานแล้วจะได้โบนัส ทุกฝ่ายต่างทำเพื่อต้องการให้ รพ.สามารถทำงานได้สะดวกในการให้บริการประชาชนได้มากที่สุดตามเงื่อนไขและบริบทในช่วงนั้น

หมายเหตุ มีบางประเด็นที่มีข้อความสับสนและขัดแย้งกัน เช่น

1. ตามที่ ดร.อานนท์ ระบุว่า “เงินที่โอนในวันสุดท้ายของปีงบประมาณ 1,100 ล้านบาท และเรียกเก็บคืนทั้งหมดภายใน 5-6 เดือน กองทุนอุบัติเหตุ หรือ high cost (AE/HC) ต้องจ่ายหลังจาก key เรียกเก็บ คนไข้ต้อง discharge แล้ว และจะคีย์เข้าไปได้หลังจาก discharge ไม่เกิน 30 วันตามกฎของ สปสช. เงินยอดนี้หากเรียกเก็บตามผลงานแสดงว่าโรงพยาบาลเหล่านี้มีคนไข้ป่วยหนัก หรือเกิดอุบัติเหตุมากมายมหาศาลภายใน 30 วันก่อนนี้ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีมากขนาดนั้น หากมีมากขนาดนั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่มีคนเจ็บหนักด้วยโรคภัยและอุบัติเหตุมากมหาศาลในช่วงสิ้นปีงบประมาณ”

สปสช. ขอชี้แจงว่า ข้อนี้ได้อธิบายไปแล้วในเบื้องต้นว่าไม่ใช่เรียกคืน กองทุน High Cost เป็นกองทุนค่าใช้จ่ายสูง ไม่ใช่เฉพาะกองทุนอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ยังมีกองทุนย่อยอยู่ในนี้หลายกองทุน เช่น กองทุนเด็กแรกเกิด กองทุนอุปกรณ์และอวัยวะเทียม ฯลฯ ส่วนการจ่ายเงินชดเชยกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน จ่ายจากกองทุนผู้ป่วยใน หรือกองทุนผู้ป่วยนอก แล้วแต่กรณี จึงไม่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้แต่อย่างใด

2. ตามที่ ดร.อานนท์ ระบุว่า “หากเป็นเงินที่เคยส่งให้ตามผลงานก็ต้องมีที่โรงพยาบาลได้รับบ้าง แต่โรงพยาบาลกลับไม่ได้เลยแม้แต่บาทเดียว นี่ไม่มีการจ่ายจริงเลยแม้แต่บาทเดียวจึงถือว่าผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง เพราะโอนทั้งก้อนในวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2555 ก่อนหมดปีงบประมาณวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2555”

ประเด็นนี้ข้อความขัดแย้งกันเอง ที่ระบุว่า “หากเป็นเงินที่เคยส่งให้ตามผลงานก็ต้องมีที่โรงพยาบาลได้รับบ้างรพ.กลับไม่ได้เลยแม้แต่บาทเดียว นี่ไม่มีการจ่ายจริงเลยแม้แต่บาทเดียวจึงถือว่าผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง” ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะทุก รพ. ได้รับเงินที่จ่ายให้ล่วงหน้าโดยคำนวณตามผลงานก่อนหน้านี้

3. ตามที่ ดร.อานนท์ ระบุว่า “หาก สปสช. จะยืนยันว่า เงินยอดดังกล่าวเป็นยอดจริง ก็ต้องแสดงรายการที่โรงพยาบาลคีย์เบิกสำหรับผู้ป่วยค่าใช้จ่ายสูงและอุบัติเหตุ ของแต่ละโรงพยาบาลตรงกันกับยอดเบิกของแต่ละโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าว โดยงบดังกล่าวต้องมาจาก IPD ที่ Discharge แล้วเท่านั้น และต้องลง ICD10 ICD9 (ถ้ามีอุปกรณ์และการผ่าตัด หรือหัตถการ)”

สปสช. ขอเดาว่า น่าจะหมายถึงการคีย์ข้อมูลจากหน่วยบริการเพื่อส่งเบิก ตรงนี้ได้ชี้แจงแล้วว่า สปสช.ดำเนินการตามระเบียบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หัวข้อการโอนเงินให้หน่วยบริการ ซึ่งมีทั้งการโอน และการหักลบกลบหนี้ที่เกิดจากผลการบริการ การจ่ายเงินเบื้องต้นจำแนกเป็นรายหน่วยบริการ เพื่อให้หน่วยบริการทราบความเคลื่อนไหวการบริหารเงินกองทุน ถ้าทำไม่ถูกตามระเบียบคงได้รับการทักท้วงจาก สตง.แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่เคยได้รับการทักท้วงจาก สตง. แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สปสช. ขอขอบคุณอย่างยิ่งที่ได้เสนอประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา ทุกท่านล้วนมีเจตนาเพื่อพัฒนาและปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยด้วยกันทั้งสิ้น แต่เนื่องจากข้อมูลที่ยกมานั้นไม่ถูกต้อง สปสช. จึงต้องชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายลุกลามบนฐานข้อมูลที่ไม่เป็นจริง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น