xs
xsm
sm
md
lg

US จีบ “อินเดีย” ร่วมตรวจการณ์ทะเล แย้มอาจจับมือกันใน “ทะเลจีนใต้” ด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เรือไอเอ็นเอส โคชิ ของอินเดีย ที่เทียบท่า ณ อู่เรือของกองทัพเรืออินเดียในเมืองมุมไบ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2015 ขณะที่ในวันพุธ(10ก.พ.) อเมริกาชวนอินเดียร่วมตรวจการณ์ทางทะเล โดยเจ้าหน้าที่กลาโหมแดนอินทรีแย้มว่า อาจครอบคลุมทะเลจีนใต้ที่หลายชาติกำลังฟาดฟันแย่งชิงกันอยู่ด้วย ซึ่งหากเป็นจริงตามนั้น ย่อมทำให้จีนที่อ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำดังกล่าวเกือบทั้งหมด ไม่พอใจอย่างรุนแรงแน่นอน
รอยเตอร์ - อเมริกาชวนอินเดียร่วมตรวจการณ์ทางทะเล โดยเจ้าหน้าที่กลาโหมแดนอินทรี แย้มว่า อาจครอบคลุมทะเลจีนใต้ที่หลายชาติกำลังฟาดฟันแย่งชิงกันอยู่ด้วย ซึ่งหากเป็นจริงตามนั้น ย่อมทำให้จีนที่อ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำดังกล่าวเกือบทั้งหมด ไม่พอใจอย่างรุนแรงแน่นอน

วอชิงตันนั้นต้องการให้พันธมิตรในภูมิภาคนี้และชาติอื่น ๆ ในเอเชีย มีจุดยืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นในการคัดค้านการอ้างสิทธิ์ของปักกิ่งเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งมีกรณีพิพาทดุเดือดขึ้นหลังจากที่จีนสร้างเกาะเทียม 7 เกาะบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์

อินเดียและอเมริกามีสัมพันธ์ทางทหารที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ ปีที่ผ่านมาก็เพิ่งร่วมซ้อมรบทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียที่มีกองทัพเรือญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ดี กองทัพเรืออินเดียไม่เคยออกตรวจการณ์ร่วมกับประเทศอื่น ตัวอย่างเช่นอินเดียปฏิเสธไม่เข้าร่วมปฏิบัติการต่อต้านโจรสลัดในแถบอ่าวเอเดน ซึ่งหลายสิบประเทศจับมือกัน แต่ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวตามลำพังนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา และโฆษกกองทัพเรือแดนภารตะบอกกับรอยเตอร์ ว่า รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายที่จะเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารระหว่างประเทศเมื่ออยู่ภายใต้การนำของสหประชาชาติเท่านั้น

ด้านเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ บอกกับรอยเตอร์ว่า สองประเทศได้หารือเรื่องการตรวจการณ์ร่วม และต่างหวังว่า จะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ ซึ่งบริเวณที่จะตรวจการณ์น่าจะเป็นมหาสมุทรอินเดียที่กองทัพเรืออินเดียเป็นผู้เล่นสำคัญ ตลอดจนอาจจะครอบคลุมถึงทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี ไม่มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตการตรวจการณ์ที่เสนอแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ปักกิ่งซึ่งอยู่ระหว่างเทศกาลวันหยุดยาวตรุษจีน ยังไม่มีความเห็นใด ๆ ในเรื่องนี้

กระนั้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จีนกล่าวหาอเมริกาพยายามใช้ข้ออ้างเสรีภาพในการเดินเรือ เพื่อการครองความเป็นเจ้าทางทะเล หลังจากปลายเดือนมกราคม เรือพิฆาตลำหนึ่งของกองทัพเรืออเมริกันแล่นผ่านเขต 12 ไมล์ทะเลของเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งก็เป็นบริเวณหนึ่งในทะเลจีนใต้ที่พิพาทแย่งชิงกันอยู่ระหว่างจีนกับชาติอื่น ๆ

ทั้งนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ เคยดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ใกล้กับเกาะเทียมของจีนในหมู่เกาะสแปรตลีย์

แม้อเมริกาและอินเดียไม่ได้อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนใด ๆ ในทะเลจีนใต้ ทว่าทั้งสองประเทศต่างประกาศสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือบริเวณดังกล่าว ระหว่างที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เยือนนิวเดลีในเดือนมกราคมปีที่แล้ว

ครั้งนั้น โอบามาและนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ยังเห็นพ้องกันที่จะ “มองหาพื้นที่อันเจาะจงชัดเจนสำหรับการขยายความร่วมมือทางทะเลระหว่างกัน”

แต่ละปี มีการขนส่งสินค้าผ่านทะเลจีนใต้มูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากจีนแล้ว ยังมีเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ที่อ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำแห่งนี้บางส่วน

แหล่งข่าวในรัฐบาลอินเดีย เผยว่า มีการริเริ่มหารืออย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการตรวจการณ์ร่วม ระหว่างที่มาโนฮาร์ ปาร์ริการ์ รัฐมนตรีกลาโหมแดนภารตะ เยือนศูนย์บัญชาการแปซิฟิกของสหรัฐฯ ในฮาวาย ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

อินเดียนั้นมีข้อพิพาทด้านดินแดนทางบกกับจีนมานาน และพยายามระมัดระวังมาตลอดที่จะไม่เพิ่มการวิวาทกับเพื่อนบ้านที่มีอิทธิพลมากกว่า แต่หันไปมุ่งเน้นการสร้างสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแทน

กระนั้น อินเดียได้ขยายบทบาททางทะเลออกนอกมหาสมุทรอินเดีย เช่น ส่งเรือไปยังทะเลจีนใต้เกือบเป็นประจำ โดยผู้บัญชาการกองทัพเรือผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางปฏิบัตินี้ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา และสำทับว่า การเยือนทะเลจีนใต้ด้วยจำนวนกองเรือขนาดใหญ่ที่สุด คือ การเยือนเวียดนามที่กำลังเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารเพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดความขัดแย้งทางทะเลกับจีน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คนเดิม เสริมว่า แนวคิดในการตรวจการณ์ร่วมกับอเมริกาในทะเลจีนใต้ยังเป็นแผนการยาวไกล

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ได้ออกมาเรียกร้องที่จะร่วมตรวจการณ์กับอเมริกาในทะเลจีนใต้ ซึ่งในเดือนนี้นักการทูตอเมริกันผู้หนึ่งระบุว่า เรื่องนี้มีความเป็นไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น