รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - กองเรือรบที่มีทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน, เรือลาดตระเวน, เรือพิฆาต และเรือดำน้ำ รวมตัวเข้าขบวนกันที่บริเวณนอกชายฝั่งญี่ปุ่นวันนี้ (18 ต.ค.) ในพิธีแสดงแสนยานุภาพทางนาวีซึ่งโอ้อวดให้เห็นแถวเรือรบทันสมัยล่าสุดของแดนอาทิตย์อุทัย และก็เป็นสัญญาณแสดงถึงการที่กองทัพเรือสหรัฐฯ เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตก
การตรวจพลสวนสนามในทะเลใกล้ๆ กรุงโตเกียวคราวนี้ คือการอวดฮาร์ดแวร์ทางทหารของญี่ปุ่นครั้งสำคัญครั้งแรก นับจากที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ มีชัยในการเร่งรัดให้รัฐสภาอนุมัติกฎหมาย ซึ่งเปิดทางให้ทหารญี่ปุ่นออกไปปกป้องคุ้มครองพันธมิตรในต่างประเทศของตนได้เป็นหนแรกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
อาเบะนั้นกำลังผลักดันหลักนิยม (doctrine) ที่ใช้ชื่อว่า “การป้องกันตนเองแบบรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน” (collective self defense) กับบรรดาพันธมิตร ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ประเทศของเขามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในด้านความมั่นคงของภูมิภาค เพื่อเป็นการถ่วงดุลกับแสนยานุภาพทางทหารของจีนที่กำลังแสดงท่าทีแข็งกร้าวยืนกรานมากขึ้นเรื่อยๆ
ทางด้านจีนแม้มีสายสัมพันธ์แบบปีนเกลียวกันกับญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สืบเนื่องจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ทับซ้อนกัน แต่ก็ออกมาพูดตอบโต้โตเกียวว่า ญี่ปุ่นกำลังมีทัศนคติและการวางท่าทีในด้านกลาโหมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล
อาเบะกล่าวปราศรัยภายหลังทำพิธีตรวจพลสวนสนามทางทะเลคราวนี้ โดยเรียกร้องให้เหล่าทหารในกองทัพเรือญี่ปุ่น ซึ่งยังคงเรียกชื่อแบบเลี่ยงๆ เพื่อไม่ให้ผิดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศว่า “กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล” เตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับรับภารกิจต่างๆ ในอนาคต และ “สืบต่อดำเนินการพิทักษ์ป้องกันสันติภาพของประเทศชาติ”
การตรวจพลสวนสนามคราวนี้ นอกเหนือจากเรือรบของญี่ปุ่นเองแล้ว ยังมีเรือจากทัพนาวีของอินเดีย, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, และสหรัฐฯ เข้ามาร่วมด้วย โดยเรือลำซึ่งโดดเด่นที่สุดประจำงาน ได้แก่ “ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน” เรือบรรทุกเครื่องบินที่มีความยาว 333 เมตรของอเมริกาที่ถูกส่งมาประจำการอยู่ในญี่ปุ่น รวมทั้งหมดแล้ว พิธีนี้ซึ่งปกติจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี ครั้งนี้มีเรือรบเข้าร่วมทั้งสิ้น 50 ลำ และเครื่องบินอีก 61 ลำ
สำหรับเรือรบลำที่เป็นจุดสนใจมากที่สุดในขบวนแถวของนาวีญี่ปุ่น ย่อมต้องเป็น เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ “อิซูโม” ซึ่งเป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดของแดนอาทิตย์อุทัยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือลำนี้ซึ่งมีความยาว 248 เมตรและมีดาดฟ้าเป็นพื้นราบ สามารถรองรับเครื่องบินซึ่งขึ้นลงแนวดิ่ง โดยสามารถรองรับเครื่องบินได้ 20 ลำ จึงถูกมองว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งอำพรางตัว
เรืออิซูโม ถูกนำเข้าประจำการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยที่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลระบุจัดประเภทให้เป็นเพียงเรือพิฆาต เพื่อที่จะให้อยู่ภายในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้กันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีข้อห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นครอบครองเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการทำสงคราม อย่างเช่นเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่เป็นเครื่องมือสำหรับการสำแดงกำลัง กระนั้นก็ตาม การมีเรืออย่างอิซูโม เข้าประจำการ ก็ยังคงเป็นตัวอย่างรูปธรรมซึ่งชี้ให้เห็นถึงการที่ญี่ปุ่นกำลังแผ่ขยายเพิ่มพูนสมรรถนะทางทหารในการปฏิบัติการในต่างแดนของตน
การส่งสัญญาณให้เห็นถึงการขยายบทบาทของนาวีญี่ปุ่นในเอเชียคราวนี้ยังสอดประสานกับการที่กองเรือรบของสหรัฐฯ เพิ่มการเข้ามีปฏิสัมพันธ์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นกับภูมิภาคแถบนี้อีกด้วย ทั้งนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้จัดส่ง พลเรือโท (หญิง) นอรา ไทสัน ผู้บัญชาการกองเรือที่ 3 เข้าร่วมรับการตรวจพลบนเรือของอาเบะ กองเรือที่ 3 ของสหรัฐฯนี้ ได้รับการยกย่องว่ามีแสนยานุภาพเกรียงไกร แต่ที่ผ่านมารับผิดชอบดูแลแปซิฟิกตะวันออก
การปรากฏตัวของเธอคราวนี้ เกิดขึ้นได้หลังจากสหรัฐฯ ยุบเลิกการแบ่งอาณาเขตรับผิดชอบมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างกองเรือที่ 3 กับกองเรือที่ 7 ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาถือตามแนวเส้นแบ่งเขตวันสากลเป็นตัวแบ่ง
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้ ไทสัน มีบทบาทเป็นผู้บังคับบัญชาในย่านแปซิฟิกตะวันตกด้วย และเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถจัดส่งเรือเข้าสู่จุดที่เกิดความยุ่งยากในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว พลเรือเอก จอห์น ริชาร์ดสัน ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวขณะมาเยือนโตเกียวในวันพฤหัสบดี (15) ที่ผ่านมา
“การเดินทางมาของพลเรือโทไทสัน เป็นเพียงการยืนยันรับรองว่า เรากำลังพยายามที่จะมีความยืดหยุ่นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้สามารถคงทางเลือกต่างๆ สำหรับการตัดสินใจในการตอบโต้เอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ริชาร์ดสันกล่าว ตำแหน่งของเขาถือเป็นนายทหารเรือในเครื่องแบบที่มีอาวุโสสูงที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกองกำลังส่วนหน้าที่มีเรืออยู่ประมาณ 80 ลำ รวมทั้ง ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ด้วย ถือเป็นกองกำลังนาวีที่ทรงพลังที่สุดในแปซิฟิกตะวันตก ขณะที่กองเรือที่ 3 ซึ่งมีท่าเรือประจำอยู่ที่เมืองซานดิเอโก, รัฐแคลิฟอร์เนีย มีเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีอยู่ในสังกัดรวม 4 ลำ