เอพี - เรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือดำน้ำจากกองทัพเรือญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอินเดียแล่นมาถึงอ่าวเบงกอลเมื่อวันเสาร์ (17 ต.ค.) เพื่อเข้าร่วมการซ้อมรบร่วมนอกชายฝั่งภาคตะวันออกของแดนภารตะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ที่กำลังเพิ่มขึ้นในหมู่ประเทศทั้งสาม ในขณะที่พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับจีนที่กำลังผงาดขึ้นมา
การซ้อมรบทางทะเลครั้งนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมมาลาบาร์นาน 6 วัน จะครอบคลุมทุกส่วนของการซ้อมรบทางทะเล รวมถึงการประสานงานแบบทหารสู่ทหารและยุทธการต่อต้านเรือดำน้ำ ทั้งนี้อ้างจากถ้อยแถลงร่วม
สหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Theodore Roosevelt เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธหนึ่งลำ และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์หนึ่งลำมาเข้าร่วมการฝึกซ้อมประจำครั้งนี้ที่จะสิ้นสุดลงในวันจันทร์ (19)
“อินเดียและญี่ปุ่นต่างเป็นหุ้นส่วนที่เยี่ยมยอดของสหรัฐฯ” น.อ.เครก แคล็ปเปอร์ตัน ผู้บัญชาการเรือ USS Theodore Roosevelt บอกกับผู้สื่อข่าวบนเรือลำดังกล่าว “เรามีข้อตกลงที่ดีร่วมกัน และเรามีความสัมพันธ์และความเป็นมิตรทางเศรษฐกิจ ทหาร และการเมืองที่เข้มแข็งกับอินเดียและญี่ปุ่น”
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์โกลบัลไทมส์ของทางการจีนได้เตือนให้อินเดียระวังถูกลากเข้าสู่กลุ่มพันธมิตรต่อต้านจีน โดยระบุว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียกำลังเป็นไปในทางที่ดี และความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ อินเดียควรระมัดระวังไม่ให้ตกเป้าหมายการชักจูงเข้าร่วมฝ่ายต่อต้านจีน”
ในเวลาเกือบจะพร้อมๆ กัน กองทัพปลดแอกประชาชนของจีนและกองทัพอินเดียก็กำลังจัดการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้ายร่วมในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของแดนมังกร
จีนเฝ้าจับตาดูการซ้อมรบทางทะเลร่วมระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ มานาน แต่รู้สึกเป็นกังวลเป็นพิเศษในเวลานี้ ขณะที่ปักกิ่งกำลังมีข้อพิพาทมากมายกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายชาติในทะเลจีนใต้
การฝึกซ้อมมาลาบาร์ในปีนี้ถูกจัดขึ้นในขณะที่กำลังมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯอาจท้าทายการอ้างสิทธิของจีนในทะเลจีนใต้อย่างเปิดเผยด้วยการล่องเรือของกองทัพเข้าสู่อาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้น