xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นจะร่วมซ้อมรบ “มาลาบาร์” กับสหรัฐฯ-อินเดียในอ่าวเบงกอล ต.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทหารอเมริกันบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน โบกมือทักทายทหารภารตะบนเรือพิฆาต ไอเอ็นเอส รันวิเจย์ ระหว่างปฏิบัติภารกิจซ้อมรบประจำปีภายใต้รหัส “มาลาบาร์” เมื่อวันที่ 16 เมษายน ปี 2012 (แฟ้มภาพ)
เอเจนซีส์ - กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจะเข้าร่วมภารกิจซ้อมรบทางทะเลกับกองทัพสหรัฐฯ และแดนภารตะ ภายใต้รหัส “มาลาบาร์” ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นกลางมหาสมุทรอินเดียในเดือนตุลาคมนี้ นับเป็นการซ้อมรบพหุภาคีครั้งใหญ่ที่อินเดียอาสาเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่เคยทำจีนโกรธเกรี้ยวหนักมาแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน

นักวิเคราะห์มองว่า การที่นิวเดลีตัดสินใจอ้าแขนรับญี่ปุ่นเข้ามาเป็นภาคีในภารกิจซ้อมรบร่วมประจำปีกับสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงเจตนารมณ์ของมหาอำนาจทั้งสามที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเก่า

ผู้แทนกองทัพอินเดีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมประชุมที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในเมืองโยโกสุกะ ใกล้กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. เพื่อเตรียมแผนจัดการซ้อมรบสามฝ่ายในอีก 3 เดือนข้างหน้า

เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ยืนยันว่ามีการจัดประชุมผู้แทนกองทัพทั้ง 3 ประเทศจริง เพื่อหารือเรื่องที่โตเกียวจะส่งกองกำลังเข้าร่วมซ้อมรบในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงตัดสินใจเกี่ยวกับประเภทของเรือรบและเครื่องบินที่จะใช้สำหรับภารกิจฝึกซ้อมในอ่าวเบงกอล

กองทัพอินเดียและสหรัฐฯ เคยส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เข้าร่วมการซ้อมรบ “มาลาบาร์” ในปีที่ผ่านๆ มา

เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมอินเดียยังปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนซ้อมรบร่วมในปี 2015 โดยบอกแต่เพียงว่าจะมีประกาศให้ทราบเมื่อใกล้ถึงวันจริง ขณะที่โฆษกกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นแถลงว่า ยังไม่มีการตัดสินใจแน่นอนว่าญี่ปุ่นจะเข้าร่วมหรือไม่

เจฟฟ์ สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเอเชียใต้จากสภานโยบายต่างประเทศอเมริกัน (American Foreign Policy Council) ชี้ว่า การที่ญี่ปุ่นกระตือรือร้นที่จะซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ และอินเดียในปีนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ต้องการเพิ่มบทบาทกองกำลังป้องกันตนเองเพื่อตอบโต้การแผ่อิทธิพลอย่างก้าวร้าวของจีน

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย เคยมีท่าทีลังเลที่จะต้อนรับญี่ปุ่นเข้าร่วมซ้อมรบในปีนี้ แต่แล้วก็ตัดสินใจให้ไฟเขียว ซึ่ง สมิธ มองว่าเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างจากรัฐบาลโมดีว่าเวลานี้อินเดียไม่กลัวที่จะประกาศถ่วงดุลอำนาจกับจีน และพร้อมที่จะสานสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯและญี่ปุ่นให้มั่นคงขึ้น

อินเดียเคยเป็นเจ้าภาพจัดการซ้อมรบแบบพหุภาคีเมื่อปี 2007 โดยมีกองกำลังจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เข้าร่วมฝึกซ้อมยุทธวิธีกับกองทัพเรือสหรัฐฯในอ่าวเบงกอล การซ้อมรับครั้งนั้นเรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากปักกิ่ง ซึ่งมองว่าเป็นแผนการของสหรัฐฯ ที่จะสร้างกลุ่มพันธมิตรความมั่นคงคล้ายๆ กับนาโตในยุโรป

ร.อ.กูร์ปรีต คูรานา ผู้อำนวยการมูลนิธิทางทะเลแห่งชาติอินเดีย เปิดเผยว่า เวลานั้นจีนได้ใช้ช่องทางการทูตขอคำอธิบายจากทุกประเทศที่เข้าร่วมซ้อมรบ ทำให้ในปีต่อๆ มารัฐบาลเดลีตัดสินใจลดระดับภารกิจเป็นการซ้อมรบแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ เท่านั้น และจะเข้าร่วมซ้อมรบสามฝ่ายก็ต่อเมื่อพื้นที่ฝึกซ้อมอยู่นอกเขตน่านน้ำอินเดีย เช่น กรณีการซ้อมรบที่นอกชายฝั่งจังหวัดนางาซากิของญี่ปุ่นในปี 2014

นายกรัฐมนตรีโมดี มีคำสั่งปรับปรุงกองทัพเรือให้มีความทันสมัย และเร่งกระชับสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านรอบมหาสมุทรอินเดีย หลังจากจีนส่งกองเรือดำน้ำไปเทียบท่าที่ศรีลังกาเมื่อปีที่แล้ว และไปจอดที่เมืองท่าการาจีของปากีสถานเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นการรุกคืบเข้าถึง “หลังบ้าน” ของอินเดีย

ซี. ราชา โมฮัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของอินเดียชี้ว่า รัฐบาลเดลีถือว่าตนมีสิทธิ์ที่จะกระชับความร่วมมือกับตะวันตกและประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ มากยิ่งขึ้น หลังจากที่จีนเปิดตัวโครงการลงทุนก่อสร้างท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในปากีสถาน เพื่อสร้างแถบเศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึง 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันจะเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหมใหม่” ทั้งทางบกและทางทะเลซึ่งมุ่งผูกโยงดินแดนจีนเข้ากับตลาดต่างๆ ในเอเชียกลาง เอเชียใต้ ไปจนถึงยุโรป และตะวันออกกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น