xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:อินเดียงัดนโยบาย “Make-in-India” หวังชูตัวเองเป็น “ฐานผลิตอาวุธใหญ่สุดในโลก” ท้าทายอำนาจจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แต่ไหนแต่ไรมา เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า อินเดีย ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์แห่งภูมิภาคเอเชียใต้ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับ “ผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่” เป็นลำดับต้นๆของโลกแทบทุกปี แต่ทว่าบทบาทของอินเดียในตลาดอาวุธโลกนับจากนี้ ดูเหมือนกำลังจะแปรเปลี่ยนไป และเป็นการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่จาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” นับตั้งแต่ชายที่ชื่อ “นเรนดรา โมดี” ก้าวขึ้นสู่อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแดนภารตะ

นับตั้งแต่ก้าวขึ้นครองอำนาจ โมดีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองชาตินิยมฮินดูระดับตัวพ่อของอินเดีย ได้ผุดนโยบายที่มีชื่อเรียกอันแสนเรียบง่าย แต่ได้ใจความชัดเจน นั่นคือนโยบาย “Make in India for Defense.” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการผลักดันให้อินเดียเป็นศูนย์กลางหรือเป็นฐานรองรับการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกประเภท ให้กับบริษัทค้าอาวุธทั่วโลก ไล่ตั้งแต่การผลิตกระสุนปืน ลูกระเบิด เรื่อยไปจนถึงการผลิตเรือดำน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบิน และเครื่องบินขับไล่

“เมื่อนึกถึงอาวุธ เรามีความปรารถนาแรงกล้าที่มุ่งหวังให้ผู้คนทั่วทั้งโลกนึกถึงอินเดีย เราต้องการเป็นตัวเลือกแรกในการเป็นฐานรองรับการผลิตสินค้าเพื่อการป้องกันประเทศและความมั่นคง และมุ่งหวังให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางของการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านนี้ในอนาคต” นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าว

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของอินเดียในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเองแบบขนานใหญ่ จากการเป็นผู้นำเข้าอาวุธระดับแถวหน้าของโลก ไปสู่การเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายสำคัญ และการผุดขึ้นของนโยบาย Make in India for Defense ดูจะไม่สร้างความประหลาดใจมากนัก ให้กับบรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง

เหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอินเดียในยุคโมดี ตัดสินใจปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญมาสู่การเป็นฐานรองรับการผลิตอาวุธ แทนการนำเข้านั้น ถูกมองว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและสอดคล้องกับภาวะด้านงบประมาณของอินเดีย ที่กำลังต้องเร่ง “ปรับสมดุล” อย่างเร่งด่วน แทนการ “โหมนำเข้า” ซึ่งรังแต่จะไปเพิ่มตัวเลขการขาดดุลทางงบประมาณและทำลายวินัยทางการคลัง ให้กับรัฐบาลนิวเดลี

หากประสบความสำเร็จ แน่นอนว่า นโยบาย Make in India for Defense นี้ จะนำไปสู่การแพร่กระจายของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆทางด้านความมั่นคงให้กับอินเดีย และยังจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจแดนภารตะ มีการขยายตัวอย่างสำคัญโดยเฉพาะในภาคการผลิต

หนึ่งในโครงการที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากนโยบาย Make in India for Defense นี้ คือ โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงสัญชาติอินเดียภายใต้ชื่อ “Tejas project” ที่อินเดียริเริ่มเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 32 ปีก่อน แต่ยังไร้ผลสำเร็จที่เป็นชิ้นเป็นอัน

ข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านความมั่นคงระบุว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เตรียมปัดฝุ่นโครงการ Tejas project และเดินสายผลิตเครื่องบินขับไล่ที่อินเดีย “ผลิตเอง 100%” จากโครงการนี้ เข้าไปประจำการในกองทัพอากาศของตน เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ “MiG-21” ซึ่งล้าสมัยและถูกนำเข้ามาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต

โดยมีรายงานว่าเครื่องบินขับไล่จากโครงการนี้จำนวน 20 ลำแรก จะถูกผลิตเข้าประจำการทันในปีงบประมาณ 2017 และจะถือเป็นผลผลิตที่เป็นรูปธรรมล็อตแรกในรอบ 32 ปี หลังจากที่รัฐบาลอินเดียหมดเงินงบประมาณกับโครงการนี้ไปแล้วมากกว่า 550,000 ล้านรูปี หรือราว 9,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนั้น รายงานข่าวล่าสุดจากแดนภารตะยังระบุว่ารัฐบาลอินเดียจ่อนำเรือดำน้ำพลังดีเซล-ไฟฟ้าลำแรก ซึ่งถูกผลิตภายในประเทศเข้าประจำการในกองทัพเรือของตนภายในเดือนกันยายนปี 2016 ก่อนที่จะจะทยอยผลิตเรือดำน้ำแบบเดียวกันอีก 5 ลำเข้าประจำการในภายหลัง ทั้งที่โครงการนี้ถูกระบุว่าล้าหลังจากแผนเดิมถึง 4 ปี

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลชาตินิยมของโมดี ยังประกาศผลักดันโครงการผลิตเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ผลิตเอง 100% ในประเทศ รวมถึง โครงการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เข้าประจำการในกองทัพอีกด้วย

นอกเหนือจากการผลิตยุทโธปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงเพื่อใช้เองในกองทัพอินเดียแล้ว รัฐบาลโมดียังคาดหวังว่า นโยบาย Make in India for Defense จะช่วยดึงดูดให้บรรดาบริษัทค้าอาวุธรายใหญ่จากทั่วโลก เข้ามา “ตั้งฐานการผลิต” ในอินเดียด้วยเช่นกัน จากข้อได้เปรียบของอินเดียด้านแรงงานราคาถูก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตลอดจนแผนส่งเสริมการลงทุนด้วยมาตรการทางภาษีและสิทธิพิเศษอื่นๆที่รัฐบาลอินเดียเตรียม “จัดหนัก” และ “จัดเต็ม” ให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้ แลกกับการปฏิบัติตาม “กฎเหล็ก 2 ประการ” ของรัฐบาลอินเดีย นั่นคือ บริษัทอาวุธต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานในอินเดียจะต้องใช้วัตถุดิบที่มีในอินเดียอย่างน้อย 95% ในการผลิตยุทโธปกรณ์ และจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแรงงานชาวอินเดีย

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถสรุปได้แบบเต็มปากว่า นโยบาย “Make in India for Defense” ของรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เนื่องจากนโยบายดังกล่าวยังถือเป็นเพียง “a work in progress” เท่านั้น

แต่ถึงกระนั้น ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยต่างมีความเชื่อมั่นแรงกล้าว่า การที่รัฐบาลอินเดียกล้างัดนโยบาย “Make-in-India” นี้มาใช้เพื่อหวังชูตัวเองเป็นฐานผลิตอาวุธใหญ่สุดในโลก และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ถือเป็น “ก้าวย่างสำคัญ” และเป็นการ “ออกก้าวเดินอย่างกล้าหาญ” ที่สมควรได้รับการชื่นชมแล้ว และหลายฝ่ายยังเชื่อว่า นโยบายที่มีแต่ “ได้กับได้” ทางด้านความมั่นคงของอินเดียนี้ อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการที่อินเดียจะท้าทายอำนาจของสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกเหนือจากการท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของแดนมังกร






กำลังโหลดความคิดเห็น