xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันวิจัยสวีเดนเผย กิจการผู้ผลิตอาวุธรัสเซียยอดขาย “พุ่ง” สวนทางชาติตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย (คนที่ 2 จากซ้าย) และประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี แห่งอียิปต์ (คนที่ 3 จากขวา)
เอเอฟพี - สถาบันวิจัยที่มีฐานในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนระบุวันนี้ (15 ธ.ค.) ว่ายอดจำหน่ายของกิจการผู้ผลิตอาวุธของรัสเซียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากการลงทุนของรัฐบาลมอสโก แม้ว่าทั่วโลกจะทุ่มงบด้านกลาโหมลดลงก็ตาม

ไซมอน เวเซแมน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ชี้ว่า “ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของกิจการผู้ผลิตอาวุธรัสเซียทั้งในปี 2012 และ 2013 ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลรัสเซียทุ่มเงินลงทุนเพื่อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างไม่ขาดระยะ ในช่วงทศวรรษที่ 2000”

SIPRI ระบุว่า เมื่อปี 2013 ยอดขายของกิจการผู้ผลิตอาวุธที่มีสำนักงานใหญ่ในรัสเซียเติบโตขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ยอดขายในประเทศผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ 100 อันดับแรกของโลก รวมทั้ง จีน กลับลดลง 3 ปีติดต่อกัน โดยพบว่ายอดขายลดลง 2 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ 4.02 แสนล้าน (ราว 13 ล้านล้านบาท) ในปี 2013

อย่างไรก็ตาม รายงานของ SIPRI ไม่ได้ระบุถึงยอดขายของปักกิ่ง เนื่องจากขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ กิจการผู้ผลิตอาวุธของจีนนั้นจัดหายุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพของตน ซึ่งได้รับงบประมาณมากเป็นอันดับสองของโลก

บริษัทแดนหมีขาวที่สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นได้มากสุดในปี 2013 คือ แทคติคอล มิสไซลส์ คอร์ปอเรชัน ซึ่งมียอดขายพุ่งขึ้นถึง 118 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยอัลมัซ-อันเตย์ ที่เพิ่มขึ้น 34 เปอร์เซ็นต์
ระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ S-400 ถูกนำออกจัดแสดง ณ จัตุรัสซูโวรอฟสกายา กลางกรุงมอสโก (8 ธ.ค.)
SIPRI กล่าวว่า ในเวลานี้ อัลมัซ-อันเตย์ ซึ่งเป็นกิจการผู้ผลิตอาวุธใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก กำลังขยับเข้าใกล้ 10 อันดับแรกมากขึ้น ขณะที่บริษัทอาวุธที่ครอง 10 อันดับแรกของโลกมักเป็นกิจการของสหรัฐฯ หรือภูมิภาคยุโรปตะวันตก มาตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น

สถาบันวิจัยสวีเดนชี้ว่า การถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน และอิรักคือหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ยอดขายอาวุธของกิจการสหรัฐฯ ลดลง 4.5 เปอร์เซ็นต์



*** บริษัทชาติตะวันตกยังไม่ตกชั้น ***

แม้ว่ายอดขายจะลดลง แต่กิจการผู้ผลิตอาวุธอเมริกัน 6 เจ้าก็ยังสามารถรั้งตำแหน่ง 10 อันดับแรกเอาไว้ได้

กลุ่มกิจการ “ล็อกฮีดมาร์ติน” ของแดนอินทรีครองอันดับหนึ่ง ด้วยยอดขาย 3.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.165 ล้านล้านบาท) ตามมาด้วยเพื่อนร่วมชาติอย่าง “โบอิ้ง”

สำหรับฝ่ายผู้ซื้อนั้น งบประมาณด้านการทหารทั่วโลกลดลง 1.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2013 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากการลดรายจ่ายภาครัฐในสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ SIPRI ระบุในรายงานฉบับก่อนหน้านี้ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน

ตามรายงานของ SIPRI ที่เผยแพร่เดือนเมษายน แดนหมีขาวนับเป็นประเทศที่ทุ่มงบประมาณด้านกลาโหมมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจากแดนอินทรี และแดนมังกร และนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา รัสเซียได้ทุ่มงบด้านการทหารเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว

การที่รัสเซียแสดงพฤติการณ์บุ่มบ่ามใกล้ภูมิภาคบ้านใกล้เรือนเคียงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการผนวกคาบสมุทรไครเมีย และรุกล้ำน่านฟ้ายุโรปครั้งแล้วครั้งเล่า ได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้แก่ชาติตะวันตกเป็นอันมาก

นับตั้งแต่เดือนเมษายน กลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่รัสเซียที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครน ได้ปะทะกับกองกำลังยูเครน ในสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 4,000 คน และบีบให้พลเรือนต้องละทิ้งบ้านเรือนหนีภัยสู้รบไปแล้วหลายแสนคน

มอสโก ได้ออกมาปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบทางภาคตะวันออกของยูเครน แต่กลับให้การยอมรับการจัดตั้งเขตปกครองตนเองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเปิดเผย

ทั้งนี้ SIPRI ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1966 โดยได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนทางการสวีเดน สถาบันแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญด้านความขัดแย้ง ยุทโธปกรณ์ การควบคุมอาวุธ และการปลดอาวุธ

สถาบันวิจัยแห่งนี้ให้คำนิยามของการขายอาวุธว่าเป็น “การจำหน่ายสินค้าและบริการด้านการทหาร ให้แก่ลูกค้าในกองทัพ รวมทั้งการขายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดหายุทโธปกรณ์ในประเทศ และการค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างแดน”
ผู้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของสมาคมกองทัพสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ยลโฉมอาวุธต่างๆ ที่จัดแสดงในนิทรรศการ
กำลังโหลดความคิดเห็น