เอเจนซีส์ - หลังจากกองทัพจักรวรรดินิยมแดนอาทิตย์อุทัยถูกขับไล่ออกจากทะเลจีนใต้ผ่านพ้นไป 70 ปี วันนี้ญี่ปุ่นคืบคลานกลับสู่ภูมิภาคนี้อย่างเงียบเชียบ ผ่านการกระชับสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งต่างมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน ได้แก่การต้านทานการมุ่งขยายดินแดนอย่างแข็งกร้าวของจีน นอกจากนั้นยังมีข่าวด้วยว่า โตเกียวอยู่ระหว่างการเจรจาขั้นต้นเพื่อร่วมผลิตอาวุธกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างโตเกียวกับมะนิลาและฮานอย มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวาง นอกจากจัดหาเรือตรวจการณ์ให้สองประเทศดังกล่าวแล้ว ญี่ปุ่นยังเตรียมจัดการซ้อมรบทางทะเลร่วมกับฟิลิปปินส์ครั้งแรกในอีกไม่กี่เดือนนี้ ขณะที่คณะแพทย์ทหารแดนอาทิตย์อุทัยกำลังให้คำแนะนำทหารบนเรือดำน้ำเวียดนามเกี่ยวกับวิธีรับมือโรคน้ำหนีบ
แหล่งข่าวฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งทราบเรื่องนี้ดีระบุว่า การให้ความช่วยเหลือต่างๆ เหล่านี้ ถึงแม้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่โตเกียวก็ใช้ความระมัดระวังตัวอย่างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปักกิ่งหาเหตุตอบโต้
ทั้งนี้ เวียดนามและฟิลิปปินส์คือสองชาติที่มีข้อพิพาทรุนแรงที่สุดกับปักกิ่งเกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้ ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็แย่งชิงหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกอยู่กับพญามังกร
ถึงแม้โตเกียวไม่ได้มีส่วนกับการแย่งชิงดินแดนในทะเลจีนใต้เลย แต่ก็รู้สึกว่าไม่อาจนิ่งเฉย เนื่องจากกลัวถูกโดดเดี่ยว หากปักกิ่งครอบครองเส้นทางเดินเรือสำคัญดังกล่าวซึ่งเรือสินค้าของญี่ปุ่นต้องแล่นผ่าน
น่าสังเกตว่าความช่วยเหลือของญี่ปุ่นมีขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วว่า โตเกียวจะให้ความช่วยเหลือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือและในการบินเหนือบริเวณที่เป็นข้อพิพาทดังกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น ความช่วยเหลือนี้เหล่ายังสอดคล้องกับความพยายามของอาเบะในการผลักดันเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใฝ่สันติ เพื่อเพิ่มบทบาทกองทัพญี่ปุ่น รวมทั้งเข้าทางการปรับสมดุลเพื่อ “ปักหมุด” เอเชียของวอชิงตัน
เอียน สตอเรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในสิงคโปร์ ชี้ว่า แนวโน้มนี้ชัดเจนมากขึ้น และเขาไม่คิดว่า ญี่ปุ่นจะล้มเลิกความพยายาม ถึงแม้จีนไม่พอใจก็ตาม
ทางด้านปักกิ่งออกมาแถลงชี้แจงกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า จีนหวังว่า ญี่ปุ่นจะพูดและดำเนินการเกี่ยวกับทะเลจีนใต้อย่างระมัดระวัง พร้อมสำทับว่า โตเกียวไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเรือญี่ปุ่นเคยใช้หมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งอยู่ใจกลางทะเลจีนใต้ เป็นฐานปฏิบัติการเรือดำน้ำ แต่สำหรับวันนี้ จีนกำลังถมส่วนหนึ่งของบริเวณดังกล่าวให้เชื่อมต่อกันเป็นผืน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เพื่อสร้างฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศ ที่จะปูทางสู่การสร้างเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ที่เครื่องบินของชาติอื่นๆ ต้องแจ้งต่อจีนเมื่อผ่านเข้ามา ถึงแม้ปักกิ่งปฏิเสธการคาดการณ์นี้มาโดยตลอดก็ตาม
เมื่อสองปีที่แล้ว จีนเคยถูกประณามรุนแรงจากญี่ปุ่นและอเมริกาหลังประกาศ ADIZ เหนือทะเลจีนตะวันออก ถึงแม้กองทัพแดนอาทิตย์อุทัยและแดนอินทรีกล้าเพิกเฉยต่อเขตป้องกันภัยเช่นนี้ของจีน แต่สำหรับประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงขัดขืนได้ยาก หากปักกิ่งประกาศ ADIZ เหนือทะเลจีนใต้ขึ้นมา
แผนการซ้อมรบร่วมทางทะเลนอกชายฝั่งฟิลิปปินส์ระหว่างมะนิลากับโตเกียวนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงความมั่นคงที่ลงนามกันในกรุงโตเกียวเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งยังระบุให้มีการหารือเป็นประจำในระดับรัฐมนตรีช่วยกลาโหม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่อาวุโส
นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังเตรียมส่งมอบเรือยามฝั่ง 10 ลำแรกให้แดนตาล็อกปลายปีนี้ อีกทั้งโตเกียวอาจสนับสนุนเงินทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรอบๆ ฐานทัพบนเกาะปาลาวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผืนแผ่นดินขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้สแปรตลีย์มากที่สุด
เดือนที่แล้ว เกน นากาตานิ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น เปิดเผยว่า อาจจำเป็นต้องทบทวนนโยบายในการไม่ส่งเครื่องบินออกตรวจการณ์เหนือทะเลจีนใต้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญสำหรับญี่ปุ่น
การเปิดเผยดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นายทหารเรือระดับสูงของอเมริกากล่าวว่า วอชิงตันจะยินดีมากหากญี่ปุ่นลาดตระเวนทางอากาศเหนือทะเลจีนใต้
สำหรับเวียดนามนั้น ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความช่วยเหลือของญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมถึงเรือตรวจการณ์เก่าจำนวน 6 ลำ และคำแนะนำในการรักษาโรคน้ำหนีบ ขณะที่เวียดนามเพิ่งได้รับมอบเรือดำน้ำที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนยิ่งขึ้นจากรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้
ไม่เพียงการกระชับความสัมพันธ์ทางกลาโหมกับมะนิลาและฮานอย แหล่งข่าวญี่ปุ่นยังเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นกำลังหารือขั้นต้นเรื่องการร่วมผลิตอาวุธกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย และอาเบะกำลังเข้าหาออสเตรเลียมากขึ้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้ แคนเบอร์ราส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมไปประจำในโตเกียวเป็นเวลา 18 เดือน เพื่อช่วยญี่ปุ่นสร้างสัมพันธ์ในเอเชียตะวันออก
เห็นกันว่าการปรับเปลี่ยนแผนเดินหมากด้านการทหารของญี่ปุ่นในอีกไม่กี่เดือนนี้ จะเปิดทางให้อาเบะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยที่มีรายงานว่าขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังตรึกตรองเรื่องที่จะให้เงินช่วยเหลือสำหรับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แก่ชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้