xs
xsm
sm
md
lg

อดีตนักบิน “คามิกาเซ” เผย! ห่วงคนญี่ปุ่นรุ่นหลังลืม “ความน่ากลัวของสงคราม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) นักบินหน่วยจู่โจมพลีชีพ กามิกาเซ ถ่ายรูปร่วมกันหน้าเครื่องบินขับไล่ ก่อนมุ่งหน้าออกจากลานเครื่องบินในเมืองโชชิ ทางตะวันออกของกรุงโตเกียว เพื่อดำเนินปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่สอง
เอเอฟพี – ยูทากะ คันเบ นักบินหน่วยจู่โจมพลีชีพ “คามิกาเซ” ที่น่าจะเสียชีวิตไปเมื่อเกือบ 7 ทศวรรษที่แล้ว เผยว่า เขาเป็นห่วงอนาคตและชนรุ่นหลังของญี่ปุ่นที่อยู่ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งดูเหมือนว่าจะลืมเลือนความน่ากลัวของสงครามไปเสียแล้ว

การยอมจำนนของโตเกียวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1945 คือสิ่งเดียวที่ช่วยชีวิตเขาจากชะตากรรมของผู้ที่มีภารกิจพลีชีพหลายพันคน ซึ่งภารกิจโลกจารึกนี้ได้กลายมาเป็นคำนิยามให้กับการแสวงหาชัยชนะโดยไม่ย่อท้อของญี่ปุ่นในช่วงบทสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ชายวัย 91 ปีผู้นี้กำลังเผชิญกับความตายของเขาเองอีกครั้งหนึ่ง เขาก็อดห่วงไม่ได้ว่า การเปลี่ยนนโยบายทางการเมืองไปทางฝั่งขวาจัดของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ และภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่เชิดชูภารกิจของเหล่านักบินคามิกาเซ กำลังเป็นข้อพิสูจน์ว่าภาพที่น่ากลัวน่ากลัวของสงครามได้หายไปสิ้นแล้วจากจิตใจของชนชาวญี่ปุ่นรุ่นหลัง

“มันบ้อบอสิ้นดี ....ผมไม่อาจสนับสนุนความคิดเชิดชูภารกิจของเรา” อดีตนักบินกองทัพเรือรายนี้พูดถึงเรื่องราวของบรรดาคนหนุ่มที่ได้รับคำสั่งให้นำเครื่องบินของพวกเขาพุ่งปะทะเข้าใส่กองเรือของฝ่ายสัมพันธมิตร

“ญี่ปุ่นอาจเข้าสู่สงครามอีกครั้ง ถ้าผู้นำของเราเป็นอย่าง อาเบะ ไปเสียทั้งหมด ...อีกไม่นานผมก็จะตายแล้ว แต่ผมยังเป็นห่วงอนาคตของญี่ปุ่น”

เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่านักบินหน่วย “คามิกาเซ” (ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “สายลมแห่งพระเจ้า”) ถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษที่สละชีพของพวกตนในนามของพระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโตะ และประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทั่วโลก

ทั้งนี้ ฝูงบินคามิกาเซถูกจัดตั้งขึ้นมาในช่วงที่สงครามใกล้จะสิ้นสุดลง ท่ามกลางความพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายที่จะขัดขวางชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีนักบินราว 4,000 คนที่เสียชีวิตในภารกิจซึ่งสร้างความพรั่นพรึงต่อกำลังรบของฝ่ายศัตรูเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าพวกเขาส่วนมากจะถูกยิงตกก่อนที่จะเข้าถึงเป้าหมายก็ตาม
ที่มา: http://blog.cleveland.com
- สละชีพเพื่อชาติ –

ปัจจุบัน ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการว่านักบินคามิกาเซที่ยังมีชีวิตอยู่กี่ราย และฝูงบินนี้ก็ได้เลือนหายไปจากความทรงจำไปเกือบหมดแล้ว และแทบไม่มีการเอ่ยถึงในหนังสือเรียนร่วมสมัยเลย

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า “The Eternal Zero” ซึ่งสร้างมาจากนิยายขายดีเรื่องหนึ่ง ได้ส่งให้ฝูงบินนี้กลับเข้ามาสู่ความทรงจำของสังคมญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งเมื่อช่วงต้นปีนี้

ภาพยนตร์ที่ติดอันดับ box-office เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักบินอาวุโสของกองทัพเรือญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งปฏิเสธที่จะเข้าร่วมภารกิจฆ่าตัวตาย เพราะเขาสัญญากับภรรยาของเขาไว้แล้วว่า จะกลับบ้านมาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ท้ายที่สุดนักบินคนนี้ก็ยอมรับการลงโทษประหารชีวิต และปล่อยให้เพื่อนสนิทเป็นคนดูแลครอบครัวของเขา

สึรุกิ นากามูระ นักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียว วัย 18 ปี กล่าวหลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบว่า “ผมนับถือเหล่านักบิน คามิกาเซ......พวกเขาสละชีพตนเองเพื่อครอบครัวและประเทศชาติของพวกเขา”

“นักบินคามิกาเซ เท่สุดๆ ...มันไม่ถูกต้องเลยที่จะตำหนิภารกิจของพวกเขา” เขากล่าวเสริม

โคโซะ คากาวะ อดีตนักบิน คามิกาเซ วัย 89 ปีไม่ได้ตื่นเต้นกับคำพูดของหนุ่มสาวรุ่นหลังๆ เท่าใดนัก

คากาวะ ปฏิเสธที่จะตัดสินว่าภารกิจของนักบินคามิกาเซถูกหลักจริยธรรมหรือไม่ แต่การได้เห็นเพื่อนนักบินตายไปอย่างสูญเปล่ายังคงหลอกหลอนเขามาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ตัวเขาเองโชคดีที่ไม่มีโอกาสออกไปปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

“ผู้รอดชีวิตอย่างผมไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ผมยังคงเศร้าโศกกับวิญญาณของเพื่อนรักที่จากไปของผม .....ผมเสียใจที่ปล่อยให้เขาตายเพียงลำพัง”

ความพยายามที่ไร้ผลของเมืองแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่ต้องการให้จดหมายลาตายของเหล่านักบินคามิกาเซ ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การสหประชาชาติ สร้างความเดือดดาลให้กับจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งต่างถูกลัทธิทหารของโตเกียวรุกรานทั้งก่อนและในช่วงสงคราม
ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้านทั้งสองยิ่งตึงเครียดขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่เมื่อเดือนกรกฎาคม อาเบะ ได้เสนอให้มีการผ่อนคลายการตีความรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ

การตีความใหม่เพื่อขยายอำนาจการใช้กองทัพของแดนอาทิตย์อุทัยเผชิญกับกระแสต่อต้านในสังคมอย่างรุนแรง และมีเสียงเตือนว่า มันอาจทำให้ประเทศถูกดึงเข้าสู่สงครามในท้ายที่สุด ท่ามกลางข้อพิพาททางเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก

สำหรับ คากาวะ คำถามที่ว่าภารกิจ คามิกาเซ เป็นความผิดพลาดหรือไม่นั้นไม่มีอีกแล้ว แต่เขาไม่มั่นใจนักว่ารัฐบาลควรจะจำกัดบทบาทกองทัพให้อยู่ที่การป้องตนเองแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่

“ภารกิจคามิกาเซไม่ควรเกิดขึ้นอีก แต่สันติภาพก็ไม่อาจเกิดขึ้นโดยปราศจากค่าตอบแทน” เขากล่าว

“เราไม่อาจปกป้องความสงบสุขไว้ได้โดยปราศจากการป้องกัน นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ อาจดูรีบร้อนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ผมเข้าใจดีว่าเจตนาของเขาคืออะไร”
แบบจำลองของ  “โอกะ” ( “ดอกซากุระ”) เครื่องบินโจมตีขับเคลื่อนด้วยจรวดแบบคามิกาเซ ที่จัดแสดงที่สวนสาธารณะภายในสถานที่ที่เคยใช้เป็นฐานทัพอากาศของกองทัพเรือแห่งพระจักรพรรดิในเมืองคาชิมะ จังหวัดอิบารากิ

กำลังโหลดความคิดเห็น