xs
xsm
sm
md
lg

จีนปล่อยเรือสินค้าญี่ปุ่นหลังจ่ายหนี้เก่าสมัยสงครามโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้กระตุ้นการฟ้องร้องข้ามชาติมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือขนส่งสินค้า เป่าสตีล อีโมชั่น (Baosteel Emotion) น้ำหนักรวม 226,434 ตัน จอดอยู่บริเวณท่าเรือในมหานครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. (ภาพ รอยเตอร์ส)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ศาลในมหานครเซี่ยงไฮ้สั่งปล่อยเรือสินค้าบริษัทญี่ปุ่น หลังยอมจ่ายหนี้เก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 3,000 ล้านเยน (ราว 948 ล้านบาท) ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้กรณีดังกล่าวจะกระตุ้นให้ชาวจีนฟ้องร้องญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น

รายงานข่าว (25 เม.ย.) กล่าวว่า ศาลทางทะเลแห่งเซี่ยงไฮ้ออกคำสั่งปล่อยเรือบรรทุกสินค้าเป่าสตีล อีโมชั่น (Baosteel Emotion) เป็นอิสระในวานนี้ หลังจากบริษัทมิตซุย โอ.เอส.เค. ไลน์ส (Mitsui O.S.K. Lines) ผู้เป็นเจ้าของเรือ ยินยอมชำระเงิน จำนวน 2,900 ล้านเยน หรือราว 917 ล้านบาท เพื่อปลดหนี้สินที่เกิดขึ้นช่วงปลายทศวรรษ 1930

“สำนักงานศาลยุติธรรมได้ประกาศคำวินิจฉัยเมื่อเวลา 08.30 น.ของวันที่ 24 เม.ย. 2557 มีใจความยกเลิกคำสั่งกักกันเรือสินค้าเป่าสตีล อีโมชั่น ซึ่งถูกยึดไว้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา” แถลงการณ์จากศาลทางทะเลแห่งเซี่ยงไฮ้ โดยเสริมว่ามิตซุยฯ ยังได้รับผิดชอบค่าประกันภัยคดีความเป็นเงินมากกว่า 2.4 ล้านหยวน (ราว 12 ล้านบาท) อีกด้วย

ทว่ากลับพบความไม่ตรงกันของจำนวนเงินที่บริษัทมิตซุยฯ จ่ายในแถลงการณ์จากศาลจีนกับรายงานข่าวในญี่ปุ่น โดยสื่อญี่ปุ่นแห่งหนึ่งระบุว่า มิตซูอิฯ จ่ายเงินราว 4,000 ล้านเยน (ราว 1,200 ล้านบาท) ให้กับศาลจีน ขณะที่หนังสือพิมพ์โยมิอูริ (Yomiuri) และสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (NHK) ของญี่ปุ่น ซึ่งอ้างบุคคลที่ใกล้ชิดกับคดีความดังกล่าว ก็ระบุว่า มิตซุยฯ จ่ายเงินจำนวนเดียวกันเป็นค่าชดเชยและดอกเบี้ยทั้งหมด

อย่างไรก็ดี Atsushi Seki โฆษกของมิตซุยฯ บอกกับรอยเตอร์สว่า ไม่สามารถยืนยันรายงานข่าวดังกล่าวได้ในทันที

ทั้งนี้ ความขัดแย้งเกิดจากข้อตกลงที่ย้อนกลับไปปลายทศวรรษ 1930 ระหว่างบริษัทจงเว่ย สตรีมชิพของจีน กับบริษัทเดินเรือสินค้าของญี่ปุ่น โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ทำสัญญาเช่าเรือ 2 ลำ จากจีน ซึ่งต่อมาถูกกองทัพเรือญี่ปุ่นยึดไปร่วมทำสงครามจีน-ญี่ปุ่น ปี 1937 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะอับปางลงในที่สุด

เมื่อเวลาผ่านไปในช่วงปลายทศวรรษ 1950 บริษัทจงเว่ยย้ายไปตั้งบนเกาะฮ่องกง ส่วนบริษัทญี่ปุ่นควบรวมกับ Navix Line ซึ่งต่อมาถูกซื้อกิจการโดยมิตซุยฯ โดยเฉิน เจิน และเฉิน ชุน ผู้บริหารรุ่นหลานของจงเว่ย ได้ฟ้องร้อง Navix กับศาลทางทะเลแห่งเซี่ยงไฮ้ในปี 2531 เรียกร้องเงินชดเชยจำนวน 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5,100 ล้านบาท)

ด้านศาลฯ ได้พิจารณาคดี และสั่งบริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินเกือบ 3 พันล้านเยนแก่ตระกูลเฉินในปี 2550 ขณะที่ศาลประชาชนชั้นสูงของจีนก็ปฏิเสธคำอุทธรณ์ของมิตซุยฯ ในปี 2553 จนกระทั่งปลายปี 2554 ศาลฯ เซี่ยงไฮ้ได้ส่งหมายเตือนไปยังมิตซุยฯ อีกครั้ง ทว่าการเจรจาระหว่างสองฝ่ายกลับลงท้ายไม่สวยงาม จึงเป็นเหตุให้ศาลจีนสั่งกักกันเรือสินค้าญี่ปุ่นในวันเสาร์ที่ผ่านมาดังกล่าว
(ภาพ รอยเตอร์ส)
หลิน เสี่ยวกวง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลาง กล่าวว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ต้องการค่าปฏิกรรมสงครามจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นด้วยเมื่อครั้งฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2515

“แต่ก็เห็นได้ว่าบรรดาศาลยุติธรรมเต็มใจยอมรับคดีความและการฟ้องร้องของพลเรือน” เขากล่าว

ทางด้านหลี่ อี้เฉียง เลขาธิการใหญ่ของ the World Chinese Alliance in Defence of the Diaoyu Islands กลุ่มชาวจีนที่เรียกร้องอธิปไตยจีนเหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ในทะเลจีนตะวันออก ระบุว่า ทางกลุ่มกำลังพิจารณาการฟ้องร้องญี่ปุ่นผ่านศาลจีน หลังจากเรือของพวกเขาที่ล่องอยู่ใกล้กับหมู่เกาะพิพาทถูกทางการญี่ปุ่นจับยึดไป

“คำวินิจฉัยของศาลในเซี่ยงไฮ้นั้นช่วยส่งเสริมกำลังใจ ทำให้เรากำลังพิจารณาจะฟ้องร้องสองคดีความกับศาลท้องถิ่น” หลี่กล่าว

อนึ่ง เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลในกรุงปักกิ่งก็ได้ยอมรับการพิจารณาคดีที่ฟ้องร้องบริษัทญี่ปุ่นสองแห่งในกรณีบีบบังคับประชาชนจีนราว 40 คน ไปใช้แรงงานระหว่างสงครามในอดีต

คัง เจี้ยน ทนายผู้ทำคดีดังกล่าวเผยว่า การฟ้องร้องมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ทรมานทางจิตใจของชาวจีนที่ถูกบังคับไปใช้แรงงาน โดยชี้ว่ามันไม่ได้เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการทำสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ

“กรณีคำตัดสินของศาลในเซี่ยงไฮ้ได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นต้องเลือกเอาว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลจีนหรือเผชิญกับคำสั่งศาลอื่นๆ”

กำลังโหลดความคิดเห็น