เอเจนซีส์ - เชลล์ชี้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิ่งเหวฉุดกำไรสุทธิประจำปีที่ผ่านมาทรุดลงถึง 87% แม้บริษัทพยายามรับมือด้วยการรัดเข็มขัดและขายทรัพย์สินมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ก็ตาม พร้อมกันนี้ เชลล์ยังยืนยันแผนปลดพนักงาน 10,000 คนตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ถือเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รายล่าสุดที่สะบักสะบอมจากราคาน้ำมันในตลาดโลก
วันพฤหัสฯ (4) รอยัล ดัตช์ เชลล์ กลุ่มกิจการน้ำมันสัญชาติอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ รายงานผลประกอบการประจำปี 2015 โดยระบุว่า กำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 1,940 ล้านดอลลาร์ เทียบกับที่เคยทำได้เกือบ 15,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า ส่วนกำไรในไตรมาส 4 ปีที่แล้วอยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 4,200 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันปี 2014
เชลล์เสริมว่า กำไรที่อิงกับต้นทุนวัสดุสิ้นเปลืองปัจจุบัน ซึ่งไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงมูลค่าน้ำมันและก๊าซที่จัดเก็บสำรอง ดิ่งลง 53% ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 10,700 ล้านดอลลาร์
ภาวะกำไรตกนี้เป็นไปตามคาด กล่าวคือเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วบริษัทออกมาคาดการณ์ว่าผลกำไรประจำปีที่ผ่านมาจะอยู่ระหว่าง 1,600-2,000 ล้านดอลลาร์
การแถลงผลประกอบการครั้งล่าสุดมีขึ้นขณะที่เชลล์อยู่ระหว่างการปรับลดพนักงาน การขายสินทรัพย์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และการยกเลิกโครงการมากมาย ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกดิ่งเหว
เชลล์แจกแจงว่า ลดต้นทุนการดำเนินการลง 4,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 10% ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะลดต้นทุนลงได้อีก 3,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ บริษัทยังขายสินทรัพย์รวม 5,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 และเตรียมขายอีก 30,000 ล้านดอลลาร์ในปีปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน บริษัทใกล้ลุล่วงกระบวนการควบกิจการบีจี กรุ๊ป บริษัทน้ำมันสัญชาติอังกฤษที่มีขนาดเล็กกว่า หลังจากได้ไฟเขียวจากผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทและหน่วยงานกำกับดูแล โดยการผนวกกิจการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสถานะของเชลล์ในตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)
เบน แวน เบอร์เดน ประธานบริหารเชลล์แถลงว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยการปรับโครงสร้าง การลดต้นทุน และการลงทุนด้านเงินทุน เพื่อปรับเป้าหมายของบริษัทและรับมือภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ
เขาสำทับว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ครอบคลุมถึงการปลดพนักงาน 10,000 คนทั่วทั้งองค์กรตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของเชลล์ทรุดดิ่งลงคือราคาน้ำมันในตลาดโลกที่รูดลงถึง 75% ในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมาจากภาวะอุปทานล้นเกิน โดยเฉพาะน้ำมันจากหินเชลล์ที่บริษัทอเมริกันส่งออกจนล้นตลาด ขณะที่การเติบโตของอุปสงค์วูบลงตามภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและยุโรป และการแข็งค่าของดอลลาร์
ทบวงพลังงานระหว่างประเทศเตือนก่อนหน้านี้ว่า ภาวะน้ำมันล้นตลาดจะยืดเยื้ออย่างน้อยจนถึงปลายปีนี้
ปัจจัยที่น่ากังวลล่าสุดสำหรับนักลงทุนคือ การที่ตะวันตกยกเลิกมาตรการลงโทษเตหะราน ซึ่งอาจทำให้ปัญหาอุปทานล้นเกินเลวร้ายลง โดยร็อคน็อดดิน จาวาดี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงน้ำมันของอิหร่าน คาดว่าประเทศจะสามารถผลิตน้ำมันออกมาเพิ่มถึง 500,000 บาร์เรลต่อวัน (บีพีดี)
สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบทั่วทั้งอุตสาหกรรม โดยในวันพฤหัสฯ สแตทออยล์ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของนอร์เวย์ เผยว่ากำลังปรับลดการลงทุนและลดต้นทุน หลังจากขาดทุนมโหฬารในปีที่ผ่านมา
บริษัทน้ำมันหลายแห่งพากันปลดพนักงานและระงับการดำเนินงานของฐานขุดเจาะเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิ่งลงจากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม 2014 อยู่ที่ 30 ดอลลาร์โดยประมาณในขณะนี้
วันอังคารที่ผ่านมา (2) เอ็กซอนโมบิล บริษัทน้ำมันชั้นนำของอเมริกา ประกาศแผนลดงบประมาณเงินทุนและระงับแผนการซื้อหุ้นคืน
วันเดียวกัน บีพีของอังกฤษรายงานว่า มียอดขาดทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบอย่างน้อย 20 ปีในปี 2015 และประกาศปลดพนักงาน 3,000 คน