xs
xsm
sm
md
lg

รมต.ต่างประเทศเมืองเบียร์เยือนอิหร่าน บรรลุข้อตกลงยกระดับสู้ภัยก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online – ทางการอิหร่านและเยอรมนีเห็นพ้องในวันพุธ (3 ก.พ.) ยกระดับความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย หลังจากที่ฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี กลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโลกตะวันตกรายล่าสุด ที่เดินทางเยือนกรุงเตหะราน นับตั้งแต่ที่อิหร่านบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับบรรดาชาติมหาอำนาจ จนนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่บังคับใช้มายาวนาน

ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำอิหร่าน เผยผ่านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอว่า ทั้งรัฐบาลเตหะรานและเบอร์ลินต่างเห็นพ้องที่จะต้องยกระดับความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆที่เป็นความท้าทายร่วมกันทั้งในระดับภูมิภาคและประเด็นปัญหาในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนการขจัดการสนับสนุนด้านอาวุธและการเงินแก่บรรดากลุ่มก่อการร้าย

การเดินทางเยือนอิหร่านของฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ มีขึ้นหลังมีการบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์เพื่อลด-เลิกและจำกัดขอบข่ายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทางรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีระบุว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นและย่างก้าวแรกในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก รวมถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงต่ออิหร่านในเดือนที่แล้ว

ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงเตหะรานเปิดเผยว่า หลังเสร็จสิ้นการเยือนอิหร่านในครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีจะมุ่งหน้าเดินทางต่อไปยังซาอุดีอาระเบียเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลริยาดห์พิจารณาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่านกลับคืนสู่ระดับปกติ

ก่อนหน้านี้ราชอาณาจักรกลางทะเลทรายแห่งนี้ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทุกระดับกับอิหร่านเมื่อเดือนที่แล้ว หลังผู้ประท้วงที่เป็นฝูงชนชาวอิหร่านบุกเข้าไปภายในสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯในกรุงเตหะราน รวมถึงสถานกงสุลซาอุฯที่เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิหร่านอย่างมัชฮาด หลังทางการซาอุฯทำการประหารชีวิตผู้นำทางศาสนาระดับแถวหน้าที่เป็นฝ่ายชีอะห์รายหนึ่ง

อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีนบวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค. ปีที่แล้วซึ่งถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอน ที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และว่ากันว่านี่อาจเป็นข้อตกลงซึ่งน่าจะพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคง ในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่

หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่านี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และช่วยลดความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันและเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไป ก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูประกาศจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ซึ่งฝ่ายอิสราเอลมองว่า เป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน


ผลของข้อตกลงนี้ ได้นำไปสู่ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในเดือนที่แล้วที่มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานได้ถูกยกเลิก

นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญ ทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสอง ต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”


ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้ทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา เช่นเดียวกับบรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านที่ถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี


ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านได้รับจากข้อตกลงคราวนี้ อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน ที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก

ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่าน สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น