xs
xsm
sm
md
lg

ลือสะพัด! ยักษ์ใหญ่บัตรเครดิตมะกัน “มาสเตอร์การ์ด” เตรียมเจาะตลาดอิหร่าน หลังวอชิงตันจ่อเลิกมาตรการคว่ำบาตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / MGR online – “มาสเตอร์การ์ด” บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ซึ่งมีฐานอยู่ในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เตรียมบุกเจาะตลาดใหม่ในอิหร่านทันทีที่มาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลวอชิงตันและโลกตะวันตกต่อสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ถูกยกเลิก

รายงานซึ่งอ้างสำนักข่าวท้องถิ่นอย่าง “ตัสนีม” ระบุว่า มาสเตอร์การ์ดซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966ได้เริ่มเตรียมความพร้อมในการบุกตลาดอิหร่านอย่างเต็มตัว ทันทีที่มาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงต่ออิหร่านถูกยกเลิก โดยล่าสุดมีการยืนยันว่า ทางมาสเตอร์การ์ดได้เริ่มเปิดช่องทางให้บริการรูปแบบต่างๆ ของตนเป็นภาษาเปอร์เซียซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของอิหร่านแล้ว เพื่อหวังดึงดูดผู้ใช้ชาวอิหร่านเข้าสู่บริการทางการเงินของตน

ที่ผ่านมา ประชาชนชาวอิหร่านไม่สามารถใช้บริการทางการเงินผ่านบัตรเครดิต ของบรรดาผู้ให้บริการรายใหญ่อย่างมาสเตอร์การ์ด วีซ่า รวมถึงเพย์พัล จากผลพวงของมาตรการคว่ำบาตรที่รัฐบาลสหรัฐฯและอีกหลายประเทศในโลกตะวันตกประกาศบังคับใช้กับอิหร่าน เพื่อตอบโต้โครงการพัฒนานิวเคลียร์ของรัฐบาลเตหะราน

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวซึ่งยังไม่มีการยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เตรียมประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงต่ออิหร่านภายในช่วงต้นปีหน้า โดยที่มีความเป็นไปได้ที่ทางวอชิงตันอาจตัดสินใจในเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม

อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อวันที่14 ก.ค.ที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ

หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่านี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่า ข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์และเพิ่มความตึงเครียดในตะวันออกกลาง


ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันและเตหะรานยังดำเนินอยู่ ต่อไป ก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานจะถูกยกเลิก เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่า มีเป้าหมายในการสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ


นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญ ทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียด ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ผู้นำทั้งสอง ต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”


ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้ จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้ กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านจะถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับ อิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี


ขณะเดียวกัน ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษในสังกัดยูเอ็น ประกาศว่า ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลเตหะรานในการแก้ไขปัญหาที่ยังค้างคาต่อกัน และจะเผยรายงานการตรวจสอบภายในวันที่ 15 ธันวาคมปีนี้


ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้ อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออก กลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค


อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็น ที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ อิหร่าน ที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก


ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวง จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวด เร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลก ได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น