รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้อำนวยการใหญ่หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติจะเดินทางเยือนอิหร่านในสุดสัปดาห์นี้ตามการยืนยันของหน่วยงานต้นสังกัดในวันเสาร์ (19 ก.ย.) คาดเตรียมลงพื้นที่ประเมินความก้าวหน้าของรัฐบาลอิหร่านในการลด-เลิกโครงการพัฒนานิวเคลียร์ หลังการบรรลุข้อตกลงกับ 6 ชาติมหาอำนาจเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
คำแถลงล่าสุดซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ในวันเสาร์ (19 ) ยืนยันว่า นายยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการใหญ่ไอเออีเอจะเดินทางเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ โดยมีกำหนดพบหารือกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการอิหร่านในวันอาทิตย์ (20) นี้
อย่างไรก็ดี โฆษกหญิงของไอเออีเอปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดที่เจาะจงว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายใดบ้างของอิหร่านที่จะพบหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ไอเออีเอระหว่างการเดินทางเยือนอิหร่านในครั้งนี้
การเดินทางเยือนอิหร่านของผู้อำนวยการใหญ่ไอเออีเอครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่าง 6 ชาติมหาอำนาจกับอิหร่าน ที่ระบุให้ทางไอเออีเอเป็นผู้ประเมินถึงความเป็นไปได้ที่โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน อาจมีมิติด้านการทหารแอบแฝงอยู่หรือไม่ภายในสิ้นปีนี้ และผลการประเมินที่ว่านี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออิหร่านที่ยังคงรอคอยให้ชาติมหาอำนาจยกเลิก “มาตรการคว่ำบาตร” ในทุกรูปแบบโดยสมบูรณ์ต่อรัฐบาลเตหะราน
ทั้งนี้ อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติที่เป็น “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค.ซึ่งถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษและว่ากันว่านี่อาจเป็นข้อตกลงซึ่งน่าจะพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่
หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯออกมาแถลงยกย่องว่านี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันและเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ ซึ่งฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ และฝ่ายโลกตะวันตก ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน
ภายใต้ข้อตกลงนี้ บรรดามาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานจะถูกยกเลิก เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายเพื่อสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ
นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะสำคัญทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองประเทศต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”
ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านจะถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี
ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้ สร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่านที่มี “ศัตรูร่วม” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก
ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 ก็ตาม