xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอิหร่านเตรียมเยือนอิตาลี-ฝรั่งเศสสัปดาห์หน้า กระชับสัมพันธ์ ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำอิหร่าน มีกำหนดเดินทางเยือนอิตาลีและฝรั่งเศสในสัปดาห์หน้าเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับยุโรป โดยการเดินทางเยือนต่างประเทศหนนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่นำไปสู่การที่นานาชาติยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงต่อสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ในที่สุด

รายงานข่าวระบุว่า การเดินทางเยือนยุโรปของประธานาธิบดีอิหร่านซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันจันทร์ (25 ม.ค.) ได้เลื่อนมาจากกำหนดเดิมเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่งเกิดการโจมตีของสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) 6 จุดกลางกรุงปารีสของฝรั่งเศส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 130 ราย

เวลานี้อิหร่านกำลังมองหาลู่ทางในการฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับทั้งโรมและปารีส ที่ถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจของอิหร่านมายาวนานตั้งแต่ช่วงก่อนการถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ เมื่อเดือนมกราราคมปี 2012

การเดินทางเยือนยุโรปครั้งนี้ ประธานาธิบดีรูฮานีได้นำคณะผู้แทนระดับสูงทั้งทางการเมืองและภาคธุรกิจของอิหร่านติดตามไปด้วยและมีกำหนดเข้าพบกับทั้งประธานาธิบดีแซร์โจ มัตตาเรลลา และนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี ก่อนจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีประชุมด้านเศรษฐกิจเวทีหนึ่งในแดนมะกะโรนี

ผู้นำสายกลางของอิหร่านยังมีกำหนดเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ณ นครรัฐวาติกันด้วยเช่นกัน ซึ่งจะถือเป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนแรกที่เข้าพบประมุขแห่งคริสตจักรคาทอลิกอย่างเป็นทางการถัดจากอดีตประธานาธิบดีสายปฏิรูปอย่างโมฮัมหมัด คาตามี เมื่อปี ค.ศ. 1999

หลังเสร็จสิ้นการเยือนอิตาลี ประธานาธิบดีของอิหร่านมีกำหนดเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส เพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำแดนน้ำหอม ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่าการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานจะเป็นหัวข้อหลักที่ผู้นำอิหร่านจะนำมาหารือระหว่างการเยือนฝรั่งเศสครั้งนี้

ก่อนหน้านี้เมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โมฮัมหมัด จาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านออกโรงยืนยัน โดยระบุ มาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงของนานาชาติต่อสาธารณรัฐอิสลามของตนถูกยกเลิกหมดสิ้นแล้ว

รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านเปิดเผยข่าวน่ายินดีดังกล่าว ระหว่างเดินทางเยือนกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานการออกรายงานฉบับสุดท้ายของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งมีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า อิหร่านได้ปฏิบัติตามทุกขั้นตอนตามเงื่อนไขที่ทำไว้กับนานาชาติ รวมถึงข้อสรุปที่ว่าโครงการพัฒนาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านไม่ได้มีจุดมุ่งหมายแอบแฝงในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และว่ากันว่านี่อาจเป็นข้อตกลงซึ่งน่าจะพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่

หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่านี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่านแถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันและเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไป ก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ซึ่งฝ่ายอิสราเอลมองว่า เป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ และฝ่ายโลกตะวันตก ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน

ภายใต้ข้อตกลงนี้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานจะถูกยกเลิก เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะราน ยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายในการสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ

นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญ ทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียด ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสอง ต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”

ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านจะถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติ ในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป อีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี

ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน ที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก

ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลก ได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 นี้ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น