เอเอฟพี - กองกำลังเคิร์ดได้บุกทำลายบ้านเรือนประชาชนหลายพันหลังทางตอนเหนือของอิรัก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามกำจัดชุมชนชาวอาหรับออกไปจากพื้นที่ องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) รายงานวันนี้ (20 ม.ค.)
หน่วยงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งนี้ระบุว่า การทำลายบ้านเรือนเกิดขึ้นหลังจากทหารเคิร์ดสามารถยึดพื้นที่คืนจากกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งเข้ายึดครองหลายเมืองสำคัญในอิรักและซีเรียตั้งแต่ปี 2014
การรื้อถอนและขโมยทรัพย์สินชาวบ้านเกิดขึ้นเป็นประจำนับตั้งแต่สงครามต่อต้านไอเอสอุบัติขึ้น สร้างความโกรธแค้นต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกองทัพอิรักจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากพวกเขาเพื่อรักษาดินแดนที่ยึดคืนมาได้
“กองกำลังเปชเมอร์กาจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน และกลุ่มติดอาวุธเคิร์ดในภาคเหนือของอิรัก ได้ทำลายบ้านเรือนหลายพันหลังโดยใช้รถเครนเข้ามารื้อถอน ระเบิด หรือจุดไฟเผา เพื่อแก้แค้นที่ชาวบ้านเหล่านี้หนุนหลังไอเอส” เอไอระบุในถ้อยแถลง
โดนาเทลลา โรเวรา ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายตอบสนองวิกฤตของเอไอ ระบุว่า กองกำลังของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน “ดูเหมือนจะเป็นหัวหอกในการบังคับขับไล่ชาวอาหรับ”
“การบังคับพลเรือนให้ละทิ้งที่อยู่ และจงใจทำลายบ้านเรือนทรัพย์สินโดยปราศจากเหตุผลอันชอบธรรมทางทหารเช่นนี้ อาจเข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงคราม” โรเวรากล่าว
พลเรือนชาวอาหรับที่หลบหนีการสู้รบยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปยังบ้านเรือนของตนอีกด้วย
เอไอสามารถรวบรวมหลักฐานที่ยืนยันถึง “การบังคับขับไล่พลเรือน และการทำลายบ้านเรือนขนานใหญ่” โดยกองกำลังเคิร์ดใน 3 จังหวัด ได้แก่ นิเนเวห์ เคอร์คุก และดิยาลา
เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2015 องค์กรแห่งนี้ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมทำนองเดียวกันของทหารเคิร์ดในซีเรีย โดยอ้างว่ามีการก่ออาชญากรรมสงครามโดย “ฝ่ายบริหารปกครองตนเอง” ที่นำโดยชาวเคิร์ดในซีเรีย
แม้หน่วยป้องกันพลเรือนเคิร์ด (YPG) จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของเอไอในเวลานั้น แต่ล่าสุดเมื่อวันอังคาร (19) พวกเขายืนยันว่าจะลงโทษนักรบ 4 คนซึ่งทำลายทรัพย์สินชาวบ้านในเมืองซึ่งยึดคืนมาจากไอเอสได้เมื่อหลายเดือนก่อน
จังหวัดนิเนเวห์ เคอร์คุก และดิยาลาในอิรัก ล้วนอยู่นอกเขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ด ทว่ากองกำลังเคิร์ดก็สามารถเข้าไปตรึงกำลังยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ได้ หลังทหารอิรักพ่ายแพ้ต่อปฏิบัติการรุกคืบของไอเอสเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2014
ผู้นำชาวเคิร์ดในอิรักต้องการได้ 3 จังหวัดนี้มารวมอยู่ในเขตปกครองตนเอง และขับไล่พลเรือนชาวอาหรับออกไปจากพื้นที่เพื่อกระชับอำนาจ
แม้แบกแดดจะคัดค้านอย่างรุนแรง และยืนยันว่า 3 จังหวัดจะต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอิรักต่อไป ทว่าทหารเคิร์ดซึ่งเป็นเสาหลักต่อสู้พวกไอเอสก็ปรารถนาจะได้ดินแดนที่พวกเขายึดคืนมาเองกับมือ