xs
xsm
sm
md
lg

“กองเรือล่าวาฬญี่ปุ่น” ออกเดินทางเที่ยวแรกสู่แอนตาร์กติก ยังกล้าใช้ข้ออ้าง “ทำวิจัย” หลังถูกศาลโลกตัดสินแพ้คดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ภาพจากแฟ้มที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2014 แสดงให้เห็นวาฬมิงค์ตัวหนึ่ง บนดาดฟ้าเรือล่าวาฬของญี่ปุ่นในแอนตาร์กติก  รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่าขบวนเรือล่าวาฬของตนจะออกเดินทางไปแอนตาร์กติกอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (1ธ.ค.) ถึงแม้ถูกหลายฝ่ายรุมต่อต้านคัดค้าน </i>
เอพี/เอเจนซีส์ - กองเรือล่าวาฬของญี่ปุ่น กำลังจะออกเดินทางในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.) เพื่อทำการล่าสัตว์ขนาดใหญ่มหึมาที่สุดของโลกปัจจุบันชนิดนี้ ในมหาสมุทรแอนตาร์กติกเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ตามการแถลงของรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัย ถึงแม้มีเสียงประท้วงจากผู้คัดค้านซึ่งระบุว่า โตเกียวยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นเลยว่าจำเป็นจริงๆ ที่ต้องฆ่าวาฬเพื่อทำการวิจัย

ประกาศของรัฐบาลในวันจันทร์ (30 พ.ย.) ออกมาไม่กี่วันหลังจากญี่ปุ่นยื่นแผนการขั้นสุดท้ายของตนต่อคณะกรรมาธิการการล่าวาฬระหว่างประเทศ ภายหลังที่ทางคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมาธิการระบุก่อนหน้านี้ในปีนี้ว่า ยังไม่เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องฆ่าวาฬเพื่อการวิจัยเรื่องการบริหารจัดการปริมาณวาฬที่มีอยู่ ตลอดจนเพื่อการอนุรักษ์

การออกเรือล่าวาฬครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกหลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) มีคำพิพากษาในปีที่แล้ววา การล่าที่ญี่ปุ่นกระทำอยู่นี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง พร้อมกับบังคับให้ญี่ปุ่นต้องทบทวนแผนการล่าวาฬในแอนตาร์กติกของตนเสียใหม่ ปรากฏว่าเมื่อปีที่แล้ว ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ไปล่าวาฬในแอนตาร์กติก โดยถึงแม้ยังคงไปทำงานวิจัยที่นั่นแต่ก็ไม่มีการสังหารวาฬใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงอ้างว่าการสังหารเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างในการศึกษา เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัยเจริญเติบโตเต็มที่ของวาฬ

ตามข้อเสนอทบทวนใหม่ที่ญี่ปุ่นยื่นต่อคณะกรรมาธิการการล่าวาฬระหว่างประเทศ แดนอาทิตย์อุทัยจะล่าวาฬมิงค์ปีละไม่เกิน 333 ตัวในช่วงเวลา 12 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปริมาณราวหนึ่งในสามของที่ญี่ปุ่นเคยสังหารในอดีต สำนักงานการประมง และกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นระบุในคำแถลงร่วมเมื่อวันจันทร์ (30) โดยกล่าวด้วยว่าแผนการนี้จะมีการประเมินผลหลังผ่านไปแล้ว 6 ปี
<i>ภาพจากแฟ้มเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2001 ซึ่งนักเคลื่อนไหวของกลุ่มกรีนพีซในออสเตรเลีย ประท้วงเรียกร้องนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่าส่งกองเรือล่าวาฬออกไปไล่ล่าสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มหึมาชนิดนี้ </i>
ทางด้านออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ฟ้องร้องญี่ปุ่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แถลงในวันจันทร์ว่า อาจจะส่งเรือออกติดตามกองเรือล่าวาฬของญี่ปุ่น

อัยการสูงสุดออสเตรเลีย จอร์จ แบรนดิส แถลงต่อวุฒิสภาของประเทศว่า แดนจิงโจ้ “ผิดหวังมาก” ต่อการที่ญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬอีก และเสนอเรื่องขึ้นไปจนถึง “ระดับสูงสุด” ในความพยายามที่จะทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนความคิด

ถ้าการทูตล้มเหลว ออสเตรเลียก็จะพิจารณาจัดส่งเรือตรวจการณ์ของสำนักงานศุลกากรและพิทักษ์ชายแดน ออกติดตามกองเรือล่าวาฬญี่ปุ่น เขาไม่ได้ระบุว่าเรือดังกล่าวจะแสดงบทบาทอะไรบ้าง แต่เท่าที่คาดการณ์กันก็คือคงจะคอยรวบรวมหลักฐานการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งหลาย

ช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ปริมาณวาฬที่ญี่ปุ่นล่าสังหารจริงๆ กำลังลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะดีมานด์ความต้องการเนื้อวาฬภายในประเทศมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อยๆ นอกจากนั้นการประท้วงจากกลุ่ม “ซี เชปเพิร์ด” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการล่าวาฬ ก็เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่ง เท่าที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นต้องนำเอางบประมาณแผ่นดินซึ่งก็คือภาษีของประชาชน เป็นเงินก้อนโตทีเดียว เพื่อมาอุดหนุนประคับประคองการดำเนินการล่าวาฬของประเทศ

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์รวม 15 องค์กร เป็นต้นว่า เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อโลมาและวาฬ (Dolphin & Whale Action Network), กรีนพีซ (Greenpeace), เฟรนด์ส ออฟ เอิร์ธ (Friends of Earth) ระบุในคำแถลงร่วมฉบับหนึ่งว่า ธุรกิจล่าวาฬนั้นไม่มีอนาคตแล้ว และรัฐบาลญี่ปุ่นควรยุติการใช้เงินภาษีของประชาชนเพียงเพื่อประคองให้การดำเนินการล่าวาฬที่หนี้สินท่วมหัว ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

คณะกรรมาธิการการล่าวาฬระหว่างประเทศได้ประกาศห้ามการล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 1986 ต่ญี่ปุ่นยังคงฆ่าวาฬต่อมาไม่หยุด โดยหลบเลี่ยงไปอ้างข้อยกเว้นที่ให้สังหารเพื่อการวิจัยได้ ถึงแม้ถูกเปิดโปงข้อเท็จจริงเรื่อยมาว่า ซากวาฬที่ถูกสังหารเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

กำลังโหลดความคิดเห็น