เอเอฟพี - กรีนพีซเผยคุณภาพอากาศช่วงครึ่งปีแรกของจีนพัฒนาสู่ทางที่ดีมากขึ้น ทว่ายังห่างไกลลิบลับจากมาตรฐานโลก
กรีนพีซ (Greenpeace) ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ เปิดเผยข้อมูลเมื่อไม่นานนี้ว่า ค่าเฉลี่ย “พีเอ็ม 2.5” (PM2.5) หรือฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กมากจนสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดของมนุษย์ใน 189 เมืองของจีน ได้ลดตัวลงกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558
ระดับพีเอ็ม 2.5 ของกรุงปักกิ่งระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย. ลดลง 15.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับปีก่อน แต่ยังพบความเข้มข้นของฝุ่นพิษทรงตัวอยู่ที่ 77.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินมาตรฐานเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้เพียง 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
สำหรับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กรีนพีซชี้ว่าเพราะจีนบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนควบคุมการปล่อยมลพิษอย่างเข้มงวดกวดขันมากขึ้น โดยระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งมีต้นตอมาจากการเผาไหม้ถ่านหินและเป็นตัวการเบื้องหลังฝุ่นพิษลดลง 42.6 เปอร์เซ็นต์ในกรุงปักกิ่ง และ 18 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ทั่วประเทศ
“พีเอ็ม 2.5 และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ลดน้อยลงสอดคล้องกับปริมาณการบริโภคถ่านหินที่พบในโรงงานสารเคมี โรงไฟฟ้า โรงตีเหล็ก และโครงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ดี เมืองใหญ่น้อยอีกกว่า 358 แห่งของจีน ยังพบระดับพีเอ็ม 2.5 สูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า และมี 18 เมือง ที่มีฝุ่นพิษเพิ่มมากขึ้นเมื่อวัดจากดัชนีคุณภาพอากาศของรัฐบาลท้องถิ่น
หลายพื้นที่ของจีนมักถูกคลื่นมลพิษบุกโจมตีอย่างรุนแรงและเสียงตำหนิติเตียนก็พุ่งไปหา ‘ถ่านหิน’ ของโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้ยานพาหนะจำนวนมหาศาล กลายเป็นกระแสความไม่พอใจของประชาชน ที่ทำให้รัฐบาลกลางต้องออกมาประกาศทำ “สงครามกับมลพิษ” และสัญญาจะลดสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลง
กรีนพีซจึงเน้นย้ำข้อเรียกร้องว่าทางการจีนควรกำกับดูแลการใช้ถ่านหินภายในประเทศอย่างจริงจังต่อไปเรื่อยๆ