xs
xsm
sm
md
lg

หมอกพิษถล่มจีนตอนเหนือ หนาทึบทุบสถิติสูงสุด เหตุจากระบบทำความร้อนฯ (ชมภาพ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หญิงชาวจีนสวมหน้ากากอนามัยขณะยืนเช็คโทรศัพท์มือถือ ท่ามกลางหมอกมลพิษในเมืองเสิ่นหยัง มณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน วันที่ 8 พ.ย. 2558 (ภาพ เอพี)
เอเจนซี - เมืองน้อยใหญ่ทางภาคเหนือของจีนเผชิญ “หมอกมลพิษ” ขั้นสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา หลังจากภาครัฐเดินเครื่องทำความร้อน สร้างความอบอุ่นแก่บ้านเรือนประชาชนในช่วงฤดูหนาว

อ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมนครเสิ่นหยัง ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (8 พ.ย.) ที่ผ่านมา ระบุว่าความหนาแน่นของฝุ่นพิษขนาดเล็กหรือพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำค่าปลอดภัยไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

นครเสิ่นหยัง เมืองเอกของมณฑลเหลียวหนิงทางจีนตะวันออกเฉียงเหนือ จึงถูกคลื่นหมอกมลพิษเข้าปกคลุมหนาทึบ ขณะที่เมืองในละแวกใกล้เคียงก็มีรายงานค่าฝุ่นพิษฯ ระดับสูงมากเช่นเดียวกัน โดยต้นเหตุหลักมาจากการเริ่มเผาไหม้ถ่านหินของระบบทำความร้อนส่วนกลาง ที่ใช้สร้างความอบอุ่นแก่บ้านเรือนประชาชน

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่าความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือพีเอ็ม 2.5 ที่สามารถแทรกสู่ปอด ทำลายสุขภาพ เชื่อมโยงกับโรคหัวใจ โรคปอด โรคทางเดินหายใจ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ได้แตะจุดสูงสุดในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ ด้วยตัวเลขสูงกว่า 1,200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ค่าชี้วัดฝุ่นพิษของนครเสิ่นหยังอาจเรียกว่าเป็นมลพิษทางอากาศระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติในประเทศจีน นับตั้งแต่รัฐบาลจีนเริ่มมาตรการเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศทั่วประเทศ และเผยแพร่ข้อมูลแบบเรียล-ไทม์ (Real-time) ในปี 2556

สำนักข่าวซินหวารายงานเสริมว่าค่าฝุ่นพิษของนครเสิ่นหยังยังแตะระดับ 1,400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ณ สถานีเฝ้าติดตามฯ บางแห่งอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ประกาศคำเตือนภัยสภาพอากาศขั้นสูงสุด พร้อมแนะนำประชาชนให้พักอาศัยอยู่ภายในบ้านเรือน และสั่งให้โรงงานอุตสาหกรรมตัดกำลังการผลิตลงเพื่อลดมลพิษ

การเผาถ่านหินเพื่อสร้างความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวกลายเป็นวิธีการที่ถูกใช้เป็นประจำในพื้นที่ตอนเหนือ ทว่าก็ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง นอกจากนั้นการปล่อยก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศจีน
(ภาพ ซีซีทีวีนิวส์)
(ภาพ ซีซีทีวีนิวส์)
(ภาพ ซีซีทีวีนิวส์)
(ภาพ ซีซีทีวีนิวส์)
(ภาพ ซีซีทีวีนิวส์)
(ภาพ ซีซีทีวีนิวส์)
(ภาพ ซีซีทีวีนิวส์)
(ภาพ ซินหวา)

กำลังโหลดความคิดเห็น