xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นสหรัฐฯ ดิ่งเหว-น้ำมันลงแตะต่ำสุดรอบ 12 ปี หลังตลาดจีนป่วนหนัก ทองคำพุ่งแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเอฟพี - วอลล์สตรีทเมื่อวันพฤหัสบดี (7 ม.ค.) ร่วงลงหนักต่ออีกวัน ด้วยดาวโจนส์ทำสถิติเริ่มต้นปีเลวร้ายสุดในรอบกว่าศตวรรษ ท่ามกลางความผันผวนในตลาดจีน ปัจจัยนี้เองก่อความกังวลแก่นักลงทุนจนฉุดราคาน้ำมันลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 12 ปี ขณะที่ทองคำขยับขึ้นอย่างแข็งแกร่งเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน

ดาวโจนส์ ลดลง 392.41 จุด (2.32 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16.514.10 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 47.17 จุด (2.37 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,943.09 จุด แนสแดค ลดลง 146.34 จุด (3.03 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,689.43 จุด

จีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนดิ่งลงหนักสุดในรอบ 5 ปี และตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ต้องระงับการซื้อขายเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์นี้ หลังจากดัชนีร่วงลงอย่างหนัก จนต้องประกาศมาตรการ “เซอร์กิต เบรกเกอร์”

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) ประกาศระงับการใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ โดยมีผลตั้งแต่วันศุกร์ (8 ม.ค.) ด้วยอ้างว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาด

ในขณะเดียวกันด้วยที่จีนเร่งให้หยวนอ่อนค่าลงเพื่อเอื้อต่อการส่งออก ได้กระพือความกังวลว่าเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของโลกแห่งนี้อาจอ่อนแอกว่าที่จินตนาการเอาไว้

ความยุ่งเหยิงในตลาดทุนจีนยังฉุดให้ราคาน้ำมันโลกเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ม.ค.) ช่วงหนึ่งของการซื้อขาย ขยับลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี หลังมันกระตุ้นความวิตกต่อสถานะของชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 70 เซ็นต์ ปิดที่ 33.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากช่วงหนึ่งขยับลงไปแตะ 32.10 ดอลลาร์ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ธันวาคม 2003

ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 48 เซ็นต์ ปิดที่ 33.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากช่วงหนึ่งขยับลงไปแตะ 32.16 ดอลลาร์ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เมษายน 2004

ปัจจัยแห่งความยุ่งเหยิงในตลาดทุนโลกและวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ผลักให้นักลงทุนหันเข้าหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อความปลอดภัย และดันราคาทองคำในวันพฤหัสบดี (7 พ.ย.) พุ่งแรง ทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 15.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,107.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์


กำลังโหลดความคิดเห็น