เอเจนซีส์ - รัฐบาลสหรัฐฯ แจ้งต่อสภาคองเกรสอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (16 ธ.ค.) เกี่ยวกับข้อตกลงจำหน่ายอาวุธล็อตใหญ่มูลค่า 1,830 ล้านดอลลาร์ให้แก่ไต้หวัน ซึ่งประกอบด้วยเรือพิฆาต 2 ลำ, ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง, ยานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก และยุทโธปกรณ์อื่นๆ ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากจีน
คำอนุมัติจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เสนอรายงานคาดการณ์ไว้แล้วเมื่อไม่กี่วันก่อน เกิดขึ้น 1 ปีหลังจากที่สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายถ่ายโอนเรือรบ (Naval Vessel Transfer Act) ซึ่งเป็นการเปิดทางให้วอชิงตันสามารถส่งขายเรือฟริเกตชั้นเพอร์รีจำนวน 4 ลำให้แก่ไต้หวัน หลังจากที่ไม่ได้มีการซื้อขายอาวุธกันมานานถึง 4 ปี
ทำเนียบขาวยืนยันว่า วอชิงตันยังคงยึดถือนโยบาย “จีนหนึ่งเดียว” (One China) ไม่เปลี่ยนแปลง และการอนุมัติครั้งนี้ก็สอดคล้องกับที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ได้ประกาศข้อตกลงจำหน่ายอาวุธแก่ไทเป รวมมูลค่าการส่งออก 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act)
“การส่งออกอาวุธแก่ไต้หวันเป็นนโยบายที่รัฐบาลสหรัฐฯ 6 ชุดที่ผ่านมา ถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง” ไมเลส แค็กกินส์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ แถลง
“แต่เราก็ยังคงยึดถือนโยบายจีนหนึ่งเดียว”
สภาคองเกรสมีเวลา 30 วันที่จะคัดค้านการส่งออกอาวุธครั้งนี้
ปักกิ่งออกมาประณามอย่างเผ็ดร้อนทุกครั้งที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้ไต้หวัน เนื่องจากถือว่าไต้หวันเป็นเพียง “มณฑล” หนึ่งที่ทรยศ
แม้วอชิงตันจะไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นรัฐเอกราชที่ไม่ขึ้นตรงต่อจีน แต่ก็มีพันธกรณีตามกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันที่จะต้องสนับสนุนให้ไทเปมีศักยภาพในการป้องกันประเทศอย่างเพียงพอ
การจำหน่ายอาวุธให้ไต้หวันมีขึ้นในช่วงที่ปัญหาทะเลจีนใต้กำลังบั่นทอนความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ โดยอเมริกาได้ออกมาวิจารณ์จีนที่ผลักดันโครงการถมทะเลสร้างเกาะเทียมเพื่ออ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำพิพาท
สำนักข่าวซินหวารายงานว่า รัฐบาลจีนได้เรียก คาเย ลี อุปทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งเข้าพบเพื่อประท้วง และขู่จะคว่ำบาตรทุกบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งออกอาวุธให้ไต้หวัน
“ไต้หวันเป็นเพียงดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่ทรยศ รัฐบาลจีนไม่เห็นด้วยที่สหรัฐฯ จะขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน” ซินหวาอ้างคำพูดของ เจิ้ง เจ๋อกวง รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้เรียก ลี เข้าพบ
เจิ้งระบุว่า การจำหน่ายอาวุธให้ไต้หวันขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และละเมิดหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็น “ภัยร้ายแรง” ต่ออธิปไตยและความมั่นคงของจีน
“เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ จีนจึงตัดสินใจใช้มาตรการที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรทุกบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงซื้อขายฉบับนี้” เจิ้ง กล่าว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัทกลาโหมที่เป็นคู่สัญญาหลักในข้อตกลงจำหน่ายอาวุธแก่ไต้หวันคือ เรย์ธีออน และล็อกฮีดมาร์ติน
ทั้งนี้ ยังยากที่จะคาดเดาได้ว่ามาตรการคว่ำบาตรของจีนจะมีผลอย่างไรต่อทั้ง 2 บริษัท ทว่าเมื่อปี 2013 ล็อกฮีดมาร์ตินได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัท เรนวูด กรุ๊ป ในไทยก่อสร้างโรงไฟฟ้านอกชายฝั่ง เพื่อผลิตพลังงานป้อนรีสอร์ตหรูแห่งหนึ่งบนเกาะไห่หนาน ทางตอนใต้ของจีน
กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า โครงการจัดซื้ออาวุธล็อตใหม่จากสหรัฐฯ จะแบ่งเป็นช่วงๆ ตลอดระยะเวลาหลายปี ซึ่งจะทำให้ไต้หวันสามารถรักษาและพัฒนาศักยภาพในการป้องกันประเทศ
จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่า การจำหน่ายอาวุธครั้งนี้พิจารณาจากความจำเป็นด้านกลาโหมของไต้หวันล้วนๆ
“รัฐบาลจีนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรก็แล้วแต่เห็นสมควร... แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ควรส่งผลกระทบอะไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรากับจีนเลย”
เดวิด แม็กคีบีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อีกคนหนึ่ง ระบุว่า แพ็กเกจอาวุธที่จะจำหน่ายให้ไต้หวันประกอบด้วยเรือฟริเกตชั้นเพอร์รีติดขีปนาวุธนำวิถีจำนวน 2 ลำ, ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง “จาฟลิน” ที่ผลิตโดยเรย์ธีออนและล็อกฮีดมาร์ติน มูลค่า 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง TOW 2B มูลค่า 268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ขีปนาวุธ “สติงเกอร์” ชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศ มูลค่า 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งผลิตโดยเรย์ธีออน, และยานโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก AAV-7 มูลค่า 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับเรือฟริเกตทั้ง 2 ลำ กระทรวงการระบุว่า เป็นสินค้าคงคลังส่วนเกินที่จะจำหน่ายให้ไทเปในราคา 190 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่จะเสนอขายพ่วงไปกับเรือฟรีเกต ประกอบด้วยปืนประจำเรือ, เครื่องมืออุปกรณ์รุ่นปรับปรุงยกระดับ, เครื่องกระสุนและความสนับสนุนให้แก่ระบบอาวุธ “โคลสอิน แวปอนส์ ซิสเตม” ที่ผลิตโดยเรย์ธีออน รวมเป็นมูลคา 416 ล้านดอลลาร์
นักวิเคราะห์และแหล่งข่าวในสภาคองเกรสบอกว่า การอนุมัติจำหน่ายอาวุธให้ไต้หวันคราวนี้ค่อนข้างล่าช้า น่าจะเนื่องจากรัฐบาลโอบามาไม่ต้องการให้เรื่องนี้กระทบความร่วมมือกับปักกิ่ง ซึ่งแม้จะเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ แต่ก็เป็นหุ้นส่วนสำคัญของอเมริกาในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก