xs
xsm
sm
md
lg

ตปท.สหรัฐฯ ไฟเขียวส่งออก “ขีปนาวุธเฮลไฟร์” ให้อิตาลีติดตั้งบน “โดรนรีปเปอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อากาศยานไร้คนขับ MQ-9 รีปเปอร์ ลำหนึ่งกำลังแท็กซี่บนรันเวย์ภายในฐานทัพอากาศกันดาฮาร์ อัฟกานิสถาน เมื่อปี 2009 (ภาพ - รอยเตอร์)
รอยเตอร์ - กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุญาตตามคำขอของรัฐบาลอิตาลีซึ่งต้องการติดตั้งขีปนาวุธเฮลไฟร์, ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ และวัตถุระเบิดอื่นๆ บนอากาศยานไร้คนขับ MQ-9 “รีปเปอร์” จำนวน 2 ลำที่กองทัพอิตาลีมีอยู่ในครอบครอง กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯแถลงเมื่อวันพุธ (4 พ.ย.)

คำอนุมัติดังกล่าวนับเป็นการส่งออก “โดรนติดอาวุธ” ที่มีผลอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่วอชิงตันประกาศนโยบายส่งออกอาวุธชนิดใหม่ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจทางทหารของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน อิรัก และเยเมน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 2 คนซึ่งไม่มีสิทธิเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ระบุว่า อิตาลีจะเป็นประเทศที่ 2 ในโลกที่สหรัฐฯ ยอมจำหน่ายโดรนติดอาวุธให้ หลังจากที่อังกฤษมีอาวุธประเภทนี้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2007

สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหม (Defense Security Cooperation Agency) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการจำหน่ายอาวุธให้ต่างชาติ ได้แจ้งแผนจำหน่ายระบบอาวุธให้อิตาลีด้วยมูลค่า 129.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้สภาคองเกรสทราบเมื่อวันอังคาร (3) โดยมีบริษัท เจเนอรัล อะตอมมิกส์ เป็นคู่สัญญาหลัก

เจเนอรัล อะตอมมิกส์ ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด เนื่องจากการจำหน่ายอาวุธครั้งนี้เป็นธุรกรรมการเงินระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล

รัฐบาลอิตาลีได้แจ้งไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2012 เพื่อขอติดตั้งระบบอาวุธลงบนโดรนรีปเปอร์ 2 ลำซึ่งที่อนุมัติการจำหน่ายให้กรุงโรมตั้งแต่ปี 2009 ส่วนตุรกีก็ได้ยื่นคำร้องขอซื้อโดรนติดอาวุธจากสหรัฐฯ แล้วเช่นกัน

สภาคองเกรสมีเวลา 15 วันที่จะโหวตคัดค้านการจำหน่ายระบบอาวุธ ทว่าการขัดขวางเช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากสัญญาซื้อขายอาวุธจะต้องกลั่นกรองมาเป็นอย่างดี ก่อนจะส่งให้สภาคองเกรสโหวตอนุมัติอย่างเป็นทางการ

ระบบอาวุธที่สหรัฐฯ จะจำหน่ายให้แก่กรุงโรม ประกอบด้วยขีปนาวุธ AGM-114RS Hellfire II จำนวน 156 ลูกซึ่งผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ป, ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ GBU-12 จำนวน 20 ลูก, ระเบิด GBU-38 เพื่อใช้ในการโจมตีร่วม (Joint Direct Attack Munitions) จำนวน 30 ลูก และอาวุธชนิดอื่นๆ

เจ้าหน้าที่เพนตากอนซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า การส่งออกโดรนไม่ว่าจะติดอาวุธหรือไม่ก็ตาม จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นกรณีๆ ไป ทว่า คำร้องของอิตาลีได้รับการอนุมัติเนื่องจากเป็นพันธมิตรที่สำคัญประเทศหนึ่งของอเมริกา

อิตาลีขอสั่งซื้อโดรนจากสหรัฐฯ เพื่อใช้สนับสนุนภารกิจของนาโตและชาติพันธมิตร รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นและศักยภาพในการปกป้องกองกำลังอิตาลีที่ถูกส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงนโยบาย “ปฏิเสธ” การจำหน่ายโดรนขนาดใหญ่ประเภทที่ 1 (MQ-9 Category I) ซึ่งมีพิสัยเดินทางอย่างน้อย 300 กิโลเมตร และสามารถบรรทุกน้ำหนักขั้นต่ำ 500 กิโลกรัม แต่อาจยอมจำหน่ายโดรนประเภทนี้ “ในบางกรณีที่หาได้ยาก” โดยประเทศผู้ซื้อโดรนทหารจากสหรัฐฯ จะต้องยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวด เช่น ห้ามใช้โดรนเพื่อสอดแนมอย่างผิดกฎหมาย หรือใช้โจมตีพลเรือน


กำลังโหลดความคิดเห็น