xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: กราดยิง 14 ศพในแคลิฟอร์เนียสะท้อนภัยจาก “ลัทธิหัวรุนแรง” ในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศสร้างความอกสั่นขวัญแขวนไปทั่วโลก นับจากกรณีเครื่องบินโดยสารเมโทรเจ็ตของรัสเซียถูกระเบิดกลางอากาศเหนือคาบสมุทรไซนายในอียิปต์เมื่อเดือน ต.ค. เรื่อยมาจนถึงเหตุวินาศกรรมกลางกรุงปารีส และล่าสุดคือกรณีกราดยิงสังหารหมู่ 14 ศพที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนอย่างโจ่งแจ้งว่าชีวิตพลเมืองในโลกตะวันตกจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลของพวกเขายังทำสงครามกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) และส่งเครื่องบินขับไล่ไปทำลายฐานที่มั่นของนักรบญิฮาดในอิรักและซีเรีย

ความหวาดผวาแผ่ลามไปทั่วสังคมอเมริกันอีกระลอกจากการยิงสังหารหมู่ภายในศูนย์พัฒนาผู้พิการที่เมืองซานเบอร์นาดิโน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บอีก 21 คน

ซายเอ็ด ฟารุก และ ตัชฟีน มาลิก สองสามีภรรยามุสลิมที่เป็นมือปืน ไม่มีประวัติก่ออาชญากรรมมาก่อน อย่างไรก็ตาม ตำรวจพบว่ามือปืนฝ่ายหญิงได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่ออุดมการณ์ไอเอสทางเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้หมดข้อกังขาว่าเบื้องหลังของเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้เกิดจากการรับค่านิยมอิสลามิสต์สุดโต่งอย่างไม่ต้องสงสัย

นักรบไอเอสซึ่งยึดครองดินแดนกว้างขวางในอิรักและซีเรีย ได้ออกมาสดุดีการกระทำของ ฟารุก และ มาลิก พร้อมยกย่องทั้งคู่เป็น “ทหาร” ของรัฐอิสลาม

สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ประกาศยกคดีนี้เป็น “คดีก่อการร้าย” ซึ่งมีผู้ร่วมก่อเหตุเพียง 2 คน แต่ไม่พบหลักฐานชี้ชัดว่าสองผัวเมียเคยสมัครเป็นสมาชิกองค์กรก่อการร้าย หรือกลุ่มติดอาวุธใดๆ

ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความตายที่ซานเบอร์นาดิโนเป็นเหตุการณ์ที่ไอเอสสามารถจะอ้าง “ความสำเร็จ” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ รวมไปถึงอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิดเครื่องบินรัสเซียในอียิปต์ เหตุระเบิดฆ่าตัวตายในเบรุต หรือการโจมตีเมืองหลวงฝรั่งเศสที่มีคนตายถึง 130 ศพ

อเมริกาผ่านเหตุกราดยิงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่เป็นฝีมือมุสลิมสุดโต่ง และพวกที่ไม่พอใจนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อตะวันออกกลาง เช่นกรณีกราดยิงสถาบันทหารที่เมืองแชตตานูกา มลรัฐเทนเนสซี และฐานทัพในมลรัฐเทกซัส เป็นต้น ทว่าเหตุนองเลือดที่ซานเบอร์นาดิโนดูเหมือนจะสร้างแรงกระเพื่อมในเชิงการเมืองได้มากที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ก็ว่าได้ เพราะทำทุกภาคส่วนต้องหันกลับมาสนใจปัญหาเรื้อรังในสังคมอเมริกัน เช่น การซื้อขายปืนที่ทำได้ง่าย (รัฐบาลเดโมแครตพยายามเสนอแก้ไขกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดยิ่งกว่าเดิม และติเตียนพวกรีพับลิกันว่าเตะถ่วงเรื่องนี้มาโดยตลอด) และมาตรการที่รัฐใช้สกัดกั้นแผนโจมตีของอิสลามิสต์หัวรุนแรง (ซึ่งฝ่ายรีพับลิกันวิจารณ์ว่ายุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา อ่อนแอเกินไป)

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ กระแสต่อต้านมุสลิมในกลุ่มชาวอเมริกันหัวขวาจัด และผู้ที่เป็นกระบอกเสียงเรื่องนี้เห็นจะไม่มีใครเกินมหาเศรษฐี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครเต็งหนึ่งในศึกคัดเลือกตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016

ทรัมป์ ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ สั่งห้ามมุสลิมเข้าประเทศ เพื่อตอบโต้เหตุกราดยิงที่ซานเบอร์นาดิโน และก่อนหน้านั้นก็เคยเสนอมาตรการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมหลายอย่าง เช่น การจัดทำฐานประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม และจับตากิจกรรมภายในมัสยิด เป็นต้น

ผลกระทบจากเหตุกราดยิงครั้งล่าสุดยังถึงขั้นทำให้ โอบามา ต้องตั้งโต๊ะปราศรัยถ่ายทอดสดจากห้องทำงานรูปไข่ (The Oval Office) ในทำเนียบขาวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ธ.ค. ซึ่งถือเป็นการเปิดแถลงข่าวพิเศษครั้งที่ 3 ของเขา นับตั้งแต่ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2009

โอบามา ประณามการกราดยิงที่ซานเบอร์นาดิโนว่าเป็น “การก่อการร้ายที่มุ่งสังหารผู้บริสุทธิ์” พร้อมกันนั้นก็ขอความร่วมมือจากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ให้ช่วยจับตาการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อจุดประสงค์ในการเผยแพร่แนวคิดรุนแรง หรือวางแผนโจมตีสหรัฐฯ

โอบามา ยังขอให้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและกระทรวงการต่างประเทศทบทวนเงื่อนไขของโครงการวีซาคู่หมั้น (K-1 fiance visa) หลังจาก ตัชฟีน มาลิก เคยใช้สิทธิ์นี้เดินทางเข้ามายังสหรัฐฯ เพื่อแต่งงานกับ ฟารุก ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน

“ไอเอส” ไม่เหมือน “อัลกออิดะห์”

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าแนวทางการต่อสู้ของไอเอสแตกต่างจากกออิดะห์อยู่พอสมควร แทนที่จะส่งนักรบแฝงตัวเข้ามาก่อการร้ายในลักษณะเดียวกับเหตุการณ์ 9/11 สิ่งที่ไอเอสกำลังทำอยู่ในขณะนี้ก็คือการเผยแพร่อุดมการณ์และสร้างความเกลียดชังผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อจุดประกายให้ชาวมุสลิมในประเทศต่างๆ ลงมือโจมตีในนามของพวกเขา

การเกิดขึ้นของ “หมาป่าโดดเดี่ยว” (lone wolves) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ถูกบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงจนกระทั่งสามารถวางแผน และลงมือก่อการได้ด้วยตนเอง บ่งชี้ว่านอกจากกระสุนปืนหรือระเบิดที่จะใช้ล่าสังหารผู้ก่อการร้าย สหรัฐฯ อาจจำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์ใหม่เพื่อสกัดการแผ่ลามของลัทธิหัวรุนแรงภายในประเทศ

“พวกรัฐอิสลามไม่ได้คิดจะลงมือด้วยตนเอง... แต่จะชี้แนะแนวทางเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ” ไมเคิล เลย์เตอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ต่อต้านก่อการร้ายอาวุโสซึ่งเคยทำงานให้กับรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และ โอบามา ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทม์ส

ได้เวลาเริ่มยุทธศาสตร์ใหม่?

เจห์ จอห์นสัน รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ บอกกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า เหตุกราดยิงที่ซานเบอร์นาดิโนทำให้สหรัฐฯ ต้องคิดหาวิธีที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของลัทธิสุดโต่งภายในประเทศ ซึ่งอาจรวมถึงการ “เลียนแบบไอเอส” ในแง่ของการใช้สื่อออนไลน์โน้มน้าวจิตใจผู้คน

จาวิเยร์ เลซากา นักวิจัยจากสถาบันบรุกกิงส์ ยกตัวอย่างคลิปวีดีโอปฏิบัติการจู่โจมเรือนจำไอเอสในอิรักเพื่อช่วยชีวิตตัวประกัน 70 คน ซึ่งมีผู้เข้าชมถึง 1.2 ล้านครั้ง ภายในเวลาเพียง 5 วัน

“คลิปนี้มีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วนที่จะทำให้มันถูกแชร์ต่อๆ กันอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ระยะเวลาที่สั้น (4 นาที), ภาพหวาดเสียว, การสะท้อนวัฒนธรรมแบบภาพยนตร์แอคชันเรื่อง Zero Dark Thirty และการนำเสนอเรื่องจริงที่สะเทือนอารมณ์”

“ปฏิบัติการทางทหารควรจะตามมาด้วยยุทธศาสตร์สื่อสารแบบดิจิทัล ที่สามารถแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้”

หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือกับชุมชนมุสลิม อย่างที่ โอบามา ได้กล่าวเตือนชาวอเมริกันเมื่อวันอาทิตย์ (6) ว่า “เราไม่ควรหันมาโจมตีกันเองโดยนิยามการต่อสู้ครั้งนี้ว่าเป็นสงครามระหว่างอเมริกากับอิสลาม เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกไอเอสต้องการ”


กำลังโหลดความคิดเห็น