เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - สองมือปืนมุสลิมที่กราดยิงคนตาย 14 ศพกลางงานปาร์ตีที่เมืองซานเบอร์นาดิโน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ก่อนจะมาพบรักผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) แถลงวานนี้ (9 ธ.ค.)
เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ สรุปว่า ซายเอ็ด ฟารุก วัย 28 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายที่เกิดในอเมริกาของผู้อพยพชาวปากีสถาน และ ตัชฟีน มาลิก ซึ่งเป็นภรรยาชาวปากีสถานของเขา ได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ และเคยพูดคุยเรื่อง “ญิฮาดและการตายเพื่อศาสนา” มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2013 เป็นอย่างน้อย
เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ แถลงต่อคณะกรรมาธิการยุติธรรมแห่งวุฒิสภาว่า ผลการสอบสวน “บ่งชี้ว่าพวกเขากลายเป็นมุสลิมหัวรุนแรง ก่อนที่จะเริ่มคบหาดูใจกันผ่านสื่อออนไลน์”
“และระหว่างที่พูดคุยผ่านอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นปี 2013 พวกเขามีการคุยเรื่องญิฮาดและการสละชีพเพื่อศาสนา ก่อนจะตัดสินใจหมั้นหมายและแต่งงานกัน จากนั้นก็มาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในสหรัฐฯ”
ข้อมูลที่ โคมีย์ เปิดเผยล่าสุดดูจะขัดแย้งกับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของพนักงานสอบสวนที่ว่า มาลิก น่าจะเป็นฝ่ายยุยงสามีให้กลายเป็นพวกหัวรุนแรง และเป็นตัวการหลักที่นำมาสู่เหตุกราดยิง
ตำรวจพบว่า มือปืนหญิงวัย 29 ปีรายนี้เคยโพสต์เฟซบุ๊กประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) โดยใช้อีกชื่อหนึ่ง ก่อนเกิดเหตุสังหารหมู่ที่เมืองซานเบอร์นาดิโนไม่นานนัก
ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวรัฐบาลสหหรัฐฯผู้หนึ่งระบุว่า ฟารุกอาจคิดวางแผนทำการโจมตีมาตั้งแต่ปี 2011 แล้วก็ได้ ขณะที่แหล่งข่าวรัฐบาลอีกรายหนึ่งกล่าวว่า เขาอาจจะเที่ยวมองหาเป้าหมายหลายๆ เป้าหมายที่สามารถเข้าโจมตีได้
สามีภรรยาซึ่งมีบุตรวัย 6 เดือนได้ถืออาวุธสงครามเข้าไปกราดยิงคนตาย 14 ศพ บาดเจ็บอีก 21 คน ภายในงานปาร์ตีวันหยุดซึ่งจัดโดยสำนักงานอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ ฟารุก ทำงานอยู่ ก่อนจะถูกตำรวจวิสามัญในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา
เจ้าหน้าที่ยังพบกระสุนปืนหลายพันนัด ระเบิดท่อ 12 ลูก และอุปกรณ์ผลิตระเบิดอีกจำนวนหนึ่งซุกซ่อนอยู่ในบ้านของพวกเขาที่รัฐแคลิฟอร์เนีย
ผอ.เอฟบีไอ ระบุว่า เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเหตุสังหารหมู่ที่ซานเบอร์นาดิโน “ได้แรงบันดาลใจจากองค์กรก่อการร้าย” อย่างแน่นอน และเอฟบีไอกำลังตรวจสอบว่ามีผู้อื่นอีกหรือไม่ที่ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือจัดหาอาวุธให้แก่สองมือปืน
“เรากำลังพยายามเต็มที่ที่จะสืบหาว่าพวกเขามีแผนการอื่นๆ อีกหรือไม่” โคมีย์ กล่าว พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่พบว่ามี “แหล่งซ่องสุมหรือเครือข่าย” ของกลุ่มติดอาวุธไอเอสในสหรัฐฯ
เมื่อถูกทางวุฒิสมาชิกซักถาม ผู้อำนวยการเอฟบีไอระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องทราบให้ชัดเจนว่า การแต่งงานของมือปืนคู่นี้เป็นการวางแผนดำเนินการโดยกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ เพื่อเป็นวิธีการทำให้สมัครพรรคพวกสามารถเดินทางเข้ามาเปิดการโจมตีในสหรัฐฯ ถึงแม้เขายืนยันว่าเวลานี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ไปเช่นนั้น
ในอีกด้านหนึ่ง รายงานข่าวของสื่ออเมริกันบอกว่า พนักงานสอบสวนยังอยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติ เอ็นริเก มาร์เกวซ เพื่อนบ้านซึ่งสนิทสนมกับ ฟารุก มานาน และเป็นผู้ต้องสงสัยซื้อปืนไรเฟิล 2 กระบอกที่สองผัวเมียนำไปใช้กราดยิง
ส.ว. เจมส์ ไรช์ ระบุว่า เอ็นริเก ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเขาและ ฟารุก เคยวางแผนก่อเหตุร้ายเมื่อราว 3 ปีก่อน แต่ล้มเลิกความตั้งใจ เนื่องจากเห็นตำรวจสหรัฐฯ ไล่ล่าผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายอย่างจริงจัง
“เขายอมรับว่าเคยวางแผนอะไรบางอย่างในปี 2012 แต่ไม่ได้ลงมือทำ เพราะเห็นว่ามีคนถูกจับฐานก่อการร้ายจำนวนมาก... นั่นทำให้พวกเขารู้สึกกลัว” ไรช์ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา บอกกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น
มาร์เกวซ ซึ่งผันตัวมารับศาสนาอิสลาม ถูกส่งไปรักษาตัวที่แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยตำรวจยังไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ กับเขา และเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการทำข้อตกลงยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แลกเปลี่ยนกับการถูกลงโทษเพียงสถานเบา
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า มาร์เกวซ และ ฟารุก เป็นเพื่อนบ้านกันมานานกว่า 10 ปี โดยอาศัยอยู่ที่เมืองริเวอร์ไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และทั้งสองยังจัดว่าเป็น “ญาติห่างๆ” เพราะ มาร์เกวซ ได้สมรสกับหญิงสาวชื่อ มารียา เชอร์นีก ซึ่งเป็นน้องสาวของพี่สะใภ้ ฟารุก
ไม่เพียงเท่านั้น เอบีซีนิวส์ ของเครือข่ายทีวีดังยังสืบสาวต่อในประเด็นที่ว่า มาร์เกวซ กับ มารียา อาจจะไม่ได้อยู่ด้วยกันจริงๆ แต่จดทะเบียนแต่งงานกัน เพียงเพื่อให้ฝ่ายหญิงซึ่งเดินทางมาจากรัสเซียด้วยเหตุผลว่าเพื่อเยี่ยมพี่สาวที่แต่งงานกับพี่ชายของ ฟารุก ได้สิทธิพำนักอาศัยในสหรัฐฯ