เอเจนซีส์ - บริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงชั้นนำระบุ นักรบต่างชาติในอิรักและซีเรียขณะนี้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองเท่าตัวจากเมื่อปีที่แล้ว โดยมีอย่างน้อย 27,000 คน บ่งชี้ว่า ความพยายามของทั่วโลกในการสกัดกั้นพลเมืองไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มนักรบญิฮัดหัวรุนแรงในตะวันออกกลางได้ผลเพียงจำกัดเท่านั้น นอกจากนั้นจุดที่น่าห่วงเป็นพิเศษคือ 20-30% ของนักรบเหล่านี้เดินทางกลับบ้านเกิดแล้ว
รายงานของเดอะ ซูฟาน กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในนิวยอร์ก ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (7 ธ.ค.) ระบุว่า ปรากฏการณ์นักรบต่างชาติในอิรักและซีเรียถือเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกอย่างแท้จริง โดยกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ประสบความสำเร็จชนิดเกินความใฝ่ฝันของกลุ่มก่อการร้ายดั้งเดิมอื่นๆ เช่น อัลกออิดะห์ ที่วันนี้ดูเหมือนตกยุคไปโดยปริยาย
“ไอเอสกระตุ้นคนนับพันให้เข้าร่วม และเป็นแรงบันดาลใจผู้คนอีกมากมายมาให้การสนับสนุน”
ซูฟานนั้นเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาย้ำเตือนภัยคุกคามจากนักรบต่างชาติในซีเรีย และอิรัก ตั้งแต่ก่อนที่ทางการอเมริกันจะเริ่มสนใจปัญหานี้เสียอีก
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ขณะนี้ มีนักรบต่างชาติ 27,000-31,000 คนจาก 86 ประเทศ เดินทางไปยังอิรักและซีเรีย เปรียบเทียบกับนักรบต่างชาติราว 12,000 คนจาก 81 ประเทศที่เดินทางเข้าสู่ซีเรียเมื่อครั้งที่ซูฟานจัดทำรายงานนี้ครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
นักรบต่างชาติจำนวนมากที่สุดที่เดินทางไปยังสองประเทศดังกล่าว ซึ่งไอเอสยึดครองอาณาบริเวณกว้างขวาง มีต้นทางจากตะวันออกกลาง และมาเกร็บ (ดินแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา) ภูมิภาคละ 8,000 คน
นักรบ 5,000 คนมาจากยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเบลเยียมตามลำดับ และ 4,700 คนจากอดีตสหภาพโซเวียต
ซูฟานเสริมว่า นักรบต่างชาติ 20-30% เดินทางกลับประเทศแล้ว ถือเป็นความท้าทายสำคัญต่อหน่วยงานด้านความมั่นคงภายใน เนื่องจากไอเอสกำลังพากเพียรพยายามเพิ่มการโจมตีในประเทศต่างๆ
ไอเอสนั้นอ้างความรับผิดชอบการโจมตีปารีสเมื่อเดือนที่แล้วที่มีผู้เสียชีวิต 130 คน รวมถึงการก่อเหตุรุนแรงในอีกหลายประเทศตั้งแต่อิรักไปจนถึงบังกลาเทศ
ภัยคุกคามจากการเดินทางกลับบ้านเกิดของนักรบต่างชาติจุดชนวนการถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่หลายประเทศออกกฎหมายเอาผิดคดีอาญาสำหรับพลเมืองที่เดินทางไปรบในซีเรียและอิรัก
จากเหตุการณ์โจมตีปารีส บรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯเริ่มตั้งคำถามกับการอนุญาตให้ชาวยุโรปเดินทางเข้าสู่อเมริกาโดยไม่ต้องขอวีซ่า
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของซูฟาน ตัวเลขล่าสุดคือหลักฐานฟ้องว่า ความพยายามในการสกัดการไหเวียนลของนักรบต่างชาติเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงในซีเรียและอิรักนั้น ได้ผลเพียงจำกัด นอกจากนี้ แรงจูงใจหลักในการเข้าร่วมกับไอเอสยังมาจากเหตุผลส่วนตัวมากกว่าเหตุผลทางการเมือง ดังนั้น แนวคิดในการปราบปรามลัทธิหัวรุนแรงของอเมริกาจึงพลาดเป้าไปถนัดใจ
“ขณะที่ไอเอสเปลี่ยนจุดเน้นหนักจากการรวมพื้นที่ยึดครอง มาเป็นการโจมตีศัตรูต่างชาติถึงบ้านเกิด หรือผลประโยชน์ของศัตรูเหล่านั้นในที่อื่นๆ ของโลก โปรไฟล์การรับสมัครนักรบต่างชาติจะเปลี่ยนไปด้วย”
ที่ผ่านมา ไอเอสชักชวนสาวกเข้าร่วมผ่านทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้นจึงถือเป็นสัญญาณเตือนภัยในหมู่ชาติตะวันตก โดยเดือนนี้ สหภาพยุโรป (อียู) เชิญชวนบริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก ตลอดจนถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ร่วมหารือเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับลัทธิหัวรุนแรงในโลกออนไลน์
กระนั้น ซูฟานตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่พลังในการเข้าถึงของไอเอสผ่านโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ดูเหมือนกลุ่มก่อการร้ายนี้ใช้ช่องทางนี้เพื่อโน้มน้าวมากกว่าผลักดันการตัดสินใจ นอกจากนั้น ขณะที่เมล็ดพันธุ์ลัทธิหัวรุนแรงถูกหว่านออกไปแล้ว การรับสมัครผ่านโซเชียลมีเดียจะมีความสำคัญน้อยกว่าการติดต่อโดยตรง เช่น ในกลุ่มเพื่อนหรือเพื่อนบ้านที่ชักชวนกันเดินทางไปร่วมรบกับไอเอส ทั้งแบบต่างคนต่างไปหรือไปด้วยกันเป็นกลุ่ม
รายงานทิ้งท้ายว่า แม้ไอเอสเป็นองค์กรที่เสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง แต่จะสามารถมีอิทธิพลต่อการดำเนินการของเหล่าผู้สนับสนุน และอาจอันตรายมากขึ้นด้วยซ้ำหลังจากกลุ่มล่มสลายลง