รอยเตอร์ - อดีตประธานาธิบดี “จิมมี คาร์เตอร์” ของสหรัฐฯ ประกาศข่าวดีต่อผู้คนหลายร้อยที่รวมตัวกันในโบสถ์แห่งหนึ่งของมลรัฐจอร์เจียเพื่อเรียนพระคัมภีร์ไบเบิลกับเขาเมื่อวันอาทิตย์ (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมาว่า ผลการสแกนสมองของเขาครั้งหลังสุด ปรากฏว่าไม่พบสัญญาณของมะเร็งร้ายใดๆ แล้ว
คาร์เตอร์ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 91 ปี เริ่มเข้ารับการรักษามะเร็งเมลาโนมา ที่แพร่ลามจากตับของเขาไปยังสมองตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีนี้ เขาบอกว่าจากการตรวจสแกนด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอครั้งก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าเนื้องอกมะเร็งร้ายที่เกิดขึ้น 4 จุดในสมองของเขา กำลังตอบสนองต่อการบำบัดรักษา
“แล้วเมื่อผมไปตรวจอีกครั้งในสัปดาห์นี้ พวกเขาไม่พบมะเร็งใดๆ อีกแล้ว ดังนั้นจึงเป็นข่าวดีสำหรับผม” คาร์เตอร์บอกกับผู้คนซึ่งชุมนุมกันอยู่ที่โบสถ์มารานาธา แบ๊ปทิสต์ เชิร์ช ในเมืองเพลนส์ รัฐจอร์เจีย ที่เป็นบ้านเกิดของเขา ทั้งนี้ตามคลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดย เอ็นบีซีนิวส์
อดีตประธานาธิบดีสังกัดพรรคเดโมแครตผู้นี้ ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความสุภาพถ่อมตน แสดงอาการยิ้มแย้มอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้คนที่เดินทางมาเข้าเรียนในโรงเรียนวันอาทิตย์ของโบสถ์ซึ่งเขาสอนอยู่ แสดงอาการตกตะลึงและปรบมือด้วยความยินดี
ในคำแถลงสั้นๆ เป็นตัวหนังสือที่ออกมาหลังจากนั้น คาร์เตอร์ยืนยันว่าการสแกนสมองครั้งล่าสุดของเขา “ไม่พบสัญญาณใดๆ ของจุดมะเร็งเนื้อร้าย ไม่ว่าจะเป็นจุดที่เคยเป็นอยู่เดิมหรือจุดใหม่อื่นใด”
เขาบอกว่าเขายังต้องรับยา “เพมโบรลิซูมับ” อย่างสม่ำเสมอต่อไป ทั้งนี้ยาตัวนี้ที่ผลิตโดยบริษัทเมิร์ก แอนด์ โค ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “คีย์ทรูดา” เป็นส่วนหนึ่งของยาชั้นใหม่ซึ่งมุ่งออกฤทธิ์ให้ระบบภูมิคุ้นกันของร่างกายคนไข้ สามารถกลับมาต่อสู้กับมะเร็ง
ขณะที่มีคนไข้ที่รักษาด้วยยาตัวนี้ราว 30% ปรากฏผลออกมาว่ามะเร็งร้ายของพวกเขาได้ลดขนาดลงไปอย่างชัดเจน แต่มีเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่หายขาด น.พ.มาร์ค เอิร์นสตอฟฟ์ ผู้อำนวยการโครงการมะเร็งเมลาโนมา แห่งสถาบันมะเร็ง ทัสสิก ของ คลีฟแลนด์ คลินิก ในมลรัฐโอไฮโอ ให้ข้อมูล
วิธีบำบัดรักษาด้วยภูมิคุ้มกัน โดยเฉลี่ยแล้วสามารถยืดการคาดหมายในอายุของคนไข้ให้ยืนยาวไปอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง
“แต่ผู้ที่มะเร็งหายขาด มีแนวโน้มที่จะมีชีวิตยืนยาวกว่านั้น” น.พ.เอิร์นสตอฟฟ์ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาอดีตประธานาธิบดีผู้นี้ กล่าวให้ความเห็น
คาร์เตอร์ ซึ่งภายหลังทราบการวินิจฉัยของแพทย์เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ได้ออกมาแถลงว่าชะตาชีวิตของเขา “อยู่ในกำมือของพระผู้เป็นเจ้า” เป็นผู้ที่ทำได้เกินกว่าความคาดหมายของผู้คนมาแล้วหลายครั้งหลังหน
พวกนักวิจารณ์พากันเยาะเย้ยช่วงแห่งการเป็นประธานาธิบดีในระหว่างปี 1977-1981 ของเขาว่าเป็นความล้มเหลว ถึงแม้เขามีบทบาทอย่างสำคัญในการเจรจาจัดทำข้อตกลงสันติภาพแคมป์เดวิดปี 1978 ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ ครั้นเมื่อเขาลงชิงชัยเพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองในปี 1980 เขาก็พ่ายแพ้ให้แก่ โรนัลด์ เรแกน ผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน
แต่แล้วอดีตเกษตรกรทำไร่ถั่วลิสงผู้นี้ กลับเป็นอดีตประธานาธิบดีที่สามารถสร้างผลงานความสำเร็จได้โดดเด่นที่สุดผู้หนึ่งภายหลังออกมาจากทำเนียบขาวแล้ว จนทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2002 และจวบจนอายุย่างเข้าหลัก 90 ก็ยังคงกระตือรือร้นทำงานเพื่อหลักการที่เขาศรัทธา เป็นต้นว่า การต่อสู้โรคระบาดในแอฟริกา และการสร้างบ้านให้คนยากจน
เขาแถลงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า การบำบัดโรคมะเร็งของเขา ซึ่งต้องรับการฉายรังสีด้วยนั้น ทำให้เขาต้องตัดลดกำหนดการออกงานสาธารณะของเขาลงไปอย่างมากมาย
กระนั้น คาร์เตอร์ก็ยังคงไปสอนในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ และเข้าร่วมงานระดมพลังสร้างบ้านเพื่อคนจนขององค์การแฮบบิแทต ฟอร์ ฮิวแมนนิตี้ อย่างน้อย 1 ครั้งเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ในเดือนตุลาคม เขาแถลงว่ากำลังทำงานร่วมกับบรรดาทายาทของสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยคลี่คลายการพิพาทกันของพวกเขาในเรื่องที่ว่า จะขายหรือไม่ขายเหรียญรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1964 ของบิดา ตลอดคัมภีร์ไบเบิลเล่มที่ คิง ถือติดตัวในระหว่างการเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง