นครศรีธรรมราช - “จิมมี่ ชวาลา” มหาเศรษฐีเมืองนครศรีธรรมราช เตรียมมอบเงิน 28 ล้านพรุ่งนี้ ขณะที่สำนักศิลปากรที่ 14 ระบุรอการประสานในการบริจาคบูรณะทองคำ ส่วนแผนการบูรณะทองคำมีความพร้อมแล้ว เตรียมกราบบังคมทูลทรงทราบ
วันนี้ (7 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพพื้นที่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากอยู่ในระหว่างการเตรียมบูรณะปลียอดทองคำขององค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้วนั้น พื้นที่ยังมีปัญหาในการระบายน้ำ เนื่องจากการปรับภูมิทัศน์ใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการซึมระบายน้ำผ่านพื้นทราย รวมทั้งช่องระบายน้ำที่ไม่สามารถระบายออกไปได้ โดยเฉพาะในช่วงฝนตกหนัก
ขณะที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ยังคงมีการติดตั้งโครงเหล็กนั่งร้านเพื่อรอการบูรณะแผ่นทองคำที่มีสภาพชำรุดบางส่วน รวมทั้งการตรวจสอบสภาพปัญหาพื้นผิวรองแผ่นทองคำบนปลียอด โดยนายจิมมี่ ชวาลา นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ได้ประกาศบริจาคเงิน จำนวน 28 ล้านบาท เพื่อซื้อทองคำ จำนวน 20 กิโลกรัม ทำการบูรณะในครั้งนี้ และเตรียมที่จะมอบเงินจำนวนนี้ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เพื่อการบูรณะทองคำองค์พระบรมธาตุเจดีย์
ส่วนประเด็นปัญหาของการชำรุด และสนิมของปลียอดทองคำองค์พระบรมธาตุเจดีย์นั้น ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้ทำหนังสือส่งไปยังผู้ร้องเรียนก่อนหน้านี้ที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบแล้ว โดยเบื้องต้นนั้น พบสาเหตุที่ทำให้เกิดคราบสนิม คือ ปฏิกิริยาของออกไซด์ตะกั่วที่รองแผ่นทองคำ ที่ต้องเจอกับความร้อนทุกวัน อาจมีอุณหภูมิระหว่างแผ่นตะกั่วกับทองคำสูงถึง 100 องศา ประกอบกับความชื้น และฝุ่นควันเป็นตัวเร่ง ทำให้เกิดออกไซด์ และไหลลงมาทำปฏิกิริยากับสารบางอย่างในสีสมัยใหม่ที่ถูกทาภายหลังเพื่อป้องกันคราบไคล และตะไคร่ต่างๆ จนเกิดปัญหาคราบสนิมลุกลามอย่างต่อเนื่อง และเอกสารฉบับดังกล่าวนั้นถูกส่งแจ้งผลไปยังผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว
นายอาณัฐ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ระบุถึงการประกาศบริจาคทำบุญซื้อทองคำของ นายจิมมี่ ชวาลา ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย นักธุรกิจค้าผ้าห้างผ้าจิมมี่และกิจการในเครือ ได้ประกาศบริจาคเงิน จำนวน 28 ล้านบาท เพื่อซื้อทองคำ จำนวน 20 กิโลกรัม บูรณะปลียอดทองคำองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากมีการประสานมายังสำนักศิลปากร ที่ 14 จะต้องรายงานต่ออธิบดีกรมศิลปากร เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนขั้นตอนในการบูรณะนั้นมีระเบียบอยู่แล้วว่าจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบถึงการบูรณะ และเหตุผลอย่างละเอียดที่จะต้องบูรณะ ในส่วนของเนื้อทองคำนั้นขณะนี้มีแผนของการซ่อมแซมบูรณะเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ อาจต้องใช้วิธีถอดชิ้นใหญ่ออกมาแล้วค่อยๆ แก้ไขซ่อมไป หรือเรียกว่าถอดไปซ่อมไป ซึ่งทองคำที่ใช้นั้นอาจน้อยลงไปซึ่งต้องรอพิจารณากันในช่วงนั้น ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 กล่าว