นายกรัฐมนตรีปราศรัยวันสหประชาชาติ ให้คำมั่นไทยจะยึดมั่นในหลักการ และความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ และให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในทุกมิติ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติ พร้อมย้ำปฏิรูปประเทศไทยรอบด้าน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันสหประชาชาติ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่า วันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรสากลระหว่างประเทศ เพื่อบรรเทาทุกข์และแก้ไขปัญหาของโลก จรรโลงสันติภาพ และความมั่นคง ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่มวลมนุษยชาติ และปีนี้นับเป็นปีที่พิเศษ เนื่องจากเป็นปีที่สหประชาชาติก่อตั้งครบ 70 ปี ซึ่งตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้พิสูจน์แล้วว่า มีบทบาทสำคัญในการพยายามระงับการพิพาทระหว่างประเทศที่ใช้กำลัง การส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมของหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะที่ประสบความเสียหายจากภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนนำความกินดีอยู่ดีมาสู่รัฐสมาชิก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภูมิใจที่ประเทศไทยมีบทบาทเข้มแข็งในฐานะสมาชิกสหประชาชาติมาเกือบ 7 ทศวรรษ เป็นที่ยอมรับจากองค์กรและประเทศสมาชิก ด้วยการมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น และแบ่งปันประสบการณ์ การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่การออกข้อมติต่าง ๆ ของสหประชาชาติที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญที่อยู่ภายใต้องค์กรสหประชาชาติ เช่น คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP
“ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในการช่วยเหลือผู้หนีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลากว่า 30 ปี รวมทั้งส่งกำลังพลกว่า 20,000 นาย เข้าร่วมภารกิจการรักษาสันติภาพในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีคนไทยที่ได้มีบทบาทและดำรงตำแหน่งสำคัญของสหประชาชาติ เช่น ประธานสมัชชาสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก รวมทั้งทูตองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย และที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอย่างสูงสุด ได้แก่ การที่สหประชาชาติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” นายกฯ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ที่ก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “70 ปีสหประชาชาติ เส้นทางสู่สันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน” โดยในถ้อยแถลงนั้น ได้พูดถึงบทบาทและการทำงานของไทยที่ผ่านมาในเวทีสหประชาชาติ วิสัยทัศน์ของไทยต่อการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายโลก พร้อมย้ำถึงความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รวมทั้งยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมทำงานในฐานะเป็นหุ้นส่วนกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน และได้กล่าวถ้อยแถลงถึงนโยบายของรัฐบาลที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
นอกจากนี้ ไทยยังได้รับเชิญให้ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมคู่ขนานอีกหลายรายการ เช่น การประชุมเรื่องน้ำ ความเท่าเทียมทางเพศ การรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง บทบาทในการรักษาสันติภาพ ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าโดยรวมของไทย และบทบาทของไทยในทุกเรื่องที่กล่าวมานี้ เป็นที่ยอมรับโดยแท้จริงของสหประชาชาติและประเทศสมาชิกทั้งหลาย ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าความสำเร็จเหล่านี้ จะเป็นนิมิตหมายที่ดี สำหรับการที่ประเทศไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2017 - 2018 ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าศักยภาพและบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยจะสามารถช่วยส่งเสริมสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และเนื่องในวันสหประชาชาติ ในนามของรัฐบาลไทย นายกฯ ขอส่งความปรารถนาดีไปยัง นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ตลอดจนเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาติ ทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มแข็งทั่วโลก และย้ำว่า ประเทศไทยจะยึดมั่นในหลักการ และความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งจะให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในทุกมิติ ทั้งในอาเซียน และในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีของ มวลมนุษยชาติอย่างเต็มความสามารถ