xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยครั้งที่ 4 ใน 5 ปี สะท้อนอาเบะโนมิกส์ยังไร้น้ำยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อากิระ อามาริ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น แถลงข่าวภายหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจ
เอเจนซีส์ - ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคครั้งที่ 4 ในรอบ 5 ปี ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนที่ผ่านมา ตอกย้ำว่านโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ยังไม่สามารถฉุดลากเศรษฐกิจพ้นจากการตกต่ำเรื้อรังได้ตามที่อาเบะวาดฝัน

ข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ย.) แสดงให้เห็นว่า ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก เศรษฐกิจหดตัว 0.8% ในไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากติดลบ 0.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเท่ากับว่าญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยคือเมื่อปีที่แล้ว หลังจากผู้บริโภคพากันรัดเข็มขัดเพื่อรับมือการขึ้นภาษีการบริโภค ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องออกมาตรการรับซื้อพันธบัตรครั้งใหญ่ ซึ่งมีผลในการพิมพ์ธนบัตรออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

นักวิเคราะห์ระบุว่า ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ความจำเป็นในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสลายอุปสรรคในด้านอุปทาน ซึ่งรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินฝืดเรื้อรังนานกว่า 15 ปี

ฮิโรชิ ชิราอิชิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบีเอ็นพี ปาริบาส์ ซีเคียวริตีส์ ชี้ว่า ธนูสองดอกแรกของ “อาเบะโนมิกส์” ภายใต้การผลักดันของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อสามปีที่แล้ว คือการกระตุ้นทางการเงินและการคลัง เป็นการซื้อเวลาเท่านั้น แต่หากปราศจากธนูดอกที่สามคือการปฏิรูป ศักยภาพการเติบโตของญี่ปุ่นจะยังคงตกต่ำต่อไป จึงตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากปัจจัยภายนอก และประสบภาวะถดถอยบ่อยขึ้น

ในการแถลงข่าวภายหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจ อากิระ อามาริ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น ตั้งข้อสังเกตถึงการขาดแคลนแรงงานสำหรับโครงการสาธารณะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งตอกย้ำอุปสรรคสำคัญที่ผู้วางนโยบายต้องเผชิญ นั่นคือไม่มีแรงงานที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการสร้างการเติบโต

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวซักถามเกี่ยวกับเรื่องที่ก่อนหน้านี้ แจ็ก ลอว์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เสนอว่า ญี่ปุ่นควรเพิ่มการสนับสนุนทางการคลังเพื่อรับประกันการฟื้นการเติบโตที่นำโดยอุปสงค์ภายในประเทศนั้น อามาริตอบว่า เขาไม่เห็นความจำเป็นในการร่างงบประมาณพิเศษเพื่อกระตุ้นอุปสงค์โดยตรง

ทว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเรียกร้องให้บริษัทท้องถิ่นใช้เงินสดและผลกำไรที่ทำได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อขึ้นค่าแรงและใช้จ่ายด้านเงินทุน อันจะนำไปสู่วงจรการเติบโตโดยภาคเอกชนอย่างแท้จริง แทนการเรียกร้องมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเมื่อการเติบโตยังคงเฉื่อยชา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงคาดการณ์แนวโน้มแง่บวกอย่างระมัดระวังโดยระบุว่า แม้มีจุดอ่อนบางประการ แต่เศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการปรับตัวในตลาดแรงงานและสภาวะรายได้

อามาริเสริมว่า แม้มีปัจจัยเสี่ยง อาทิ พัฒนาการภายนอก แต่รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้าสู่การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปอันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นหลายอย่างก่อนหน้านี้ และยังบอกอีกว่า ปัจจัยลบสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 หดตัวคือการลดลงขนานใหญ่ของปริมาณสินค้าคงคลัง ซึ่งหากไม่นับรวมปัจจัยนี้ จีดีพีจะเติบโตในอัตรา 1.4% ต่อปี

ทว่า การใช้จ่ายเงินทุนลดลงถึง 1.3% มากกว่าที่ตลาดคาดไว้และถือเป็นการลดลงไตรมาสที่ 2 สะท้อนการลงทุนที่ซบเซาในภาคการผลิต

ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนที่คิดเป็นองค์ประกอบ 60% ของจีดีพีนั้น ขยับขึ้น 0.50% จากไตรมาส 2 และขณะที่ความต้องการภายในประเทศลดลง 0.3% แต่ความต้องการสินค้าออกญี่ปุ่นจากต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้น 0.1%

อนึ่ง ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอนี้แทบไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดสำหรับเจ้าหน้าที่บีโอเจที่ส่วนใหญ่คาดหมายไว้แล้วว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และขณะนี้ กำลังคาดหวังว่าการเติบโตจะฟื้นตัวในไตรมาสต่อๆ ไปเนื่องจากการบริโภคและผลผลิตจากโรงงานแสดงสัญญาณการฟื้นตัว แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์จึงคาดว่าบีโอเจจะไม่ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแต่อย่างใดระหว่างการประชุมในสัปดาห์นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น