xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพีญี่ปุ่นไตรมาส2ติดลบกว่าคาด เชื่อบีบรัฐบาล-บีโอเจปรับนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสสองปีนี้ติดลบหนักกว่าที่ประเมินไว้ กดดัน “อาเบะ” ต้องทบทวนแผนการขึ้นภาษีการขายรอบใหม่ในปีหน้า รวมทั้งอาจบีบให้ “บีโอเจ” จำใจประกาศมาตรการกระตุ้นในการประชุมกำหนดนโยบายครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นปลายเดือนตุลาคม

สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันจันทร์ (8 ก.ย.) ว่า จากการทบทวนปรับแก้ล่าสุด ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของปีนี้ อยู่ในระดับหดตัว 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก จากที่เคยแถลงไว้ในขั้นต้นก่อนหน้านี้ว่าติดลบในระดับ 1.7%

ตัวเลขปรับใหม่นี้ตอกย้ำว่า ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2014 คือรอบไตรมาสที่ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ เผชิญภาวะการเติบโตตกต่ำรุนแรงที่สุดนับจากมหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011

นอกจากนั้น หากคำนวณเป็นอัตราต่อปี จีดีพีไตรมาสดังกล่าว จะหดตัวถึง 7.1% จากที่ในตอนแรกประมาณการว่าอยู่ที่ติดลบ 6.8% และดังนั้นจึงถือเป็นไตรมาสย่ำแย่ที่สุดนับจากต้นปี 2009 ที่เกิดวิกฤตภาคการเงินโลก

ข้อมูลล่าสุดยังระบุว่า การลงทุนภาคธุรกิจลดลงกว่าที่ประเมินไว้แต่แรกมากกว่าสองเท่าตัวหรือ 5.1% ขณะที่การใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยดิ่งลง 10.4% เมื่อคิดเป็นอัตราต่อปี

ข้อมูลนี้ยังบ่งบอกให้เห็นว่า แผนพลิกฟื้นการเติบโตของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กำลังสะดุดอย่างจัง ที่สำคัญจีดีพีติดลบครั้งนี้ยังเป็นผลจากมาตรการขึ้นภาษีการขายเมื่อเดือนเมษายนที่อาเบะเป็นตัวหลักที่ผลักดัน โดยที่เป็นการขึ้นภาษีประเภทนี้ครั้งแรกในรอบ 17 ปี ด้วยจุดประสงค์ที่จะเพิ่มรายได้ของภาครัฐและลดหนี้สินภาคสาธารณะที่มีมูลค่ามากกว่าจีดีพีถึงสองเท่าตัว

ก่อนหน้าการขึ้นภาษีการขาย เศรษฐกิจแดนปลาดิบติดลมบนจากแผนกระตุ้นการเติบโตของอาเบะ หรือ “อาเบะโนมิกส์” ที่ช่วยฉุดให้ค่าเงินเยนอ่อนลง ส่งให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ส่งออกญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และผลักดันตลาดหุ้นพุ่งทะยานเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ อาเบะโนมิกส์ยังมีแคมเปญผ่อนคลายทางการเงินมโหฬารของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เป็นแกนหลัก

กระนั้น เสียงตอบรับอาเบะโนมิกส์อย่างกึกก้องในช่วงต้น ได้แผ่วลงไปอย่างชัดเจน หลังจากอานิสงส์ของค่าเงินเยนอ่อน หมดฤทธิ์ และมีความเคลือบแคลงมากขึ้นว่าจริงๆ แล้ว อาเบะมีความกระตือรือร้นแค่ไหนแน่ ในการผลักดันการปฏิรูปที่ยากลำบากแต่จำเป็นสำหรับทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว

นักวิเคราะห์มองว่า รายงานภาวะเศรษฐกิจล่าสุดนี้ อาจบีบให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องประเมินแผนการขึ้นภาษีการขายรอบสอง ที่กำหนดจะกระทำในปีหน้า ถึงแม้จวบจนกระทั่งล่าสุด รัฐบาลและบีโอเจยังคงยืนยันว่า การขึ้นภาษียอดขายจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยมาก

ด้วยเหตุนี้ ภายหลังการประชุมคณะกรรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บีโอเจจึงตัดสินใจไม่ออกมาตรการกระตุ้นใหม่ อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจยังคงขยายตัวราบรื่น

จุนโกะ นิชิโอกะ นักเศรษฐศาสตร์ของอาร์บีเอส เจแปน ซีเคียวริตี้ส์ แสดงความเห็นว่า ในทางทฤษฎีนั้น การขึ้นภาษีการขายซึ่งเป็นการมุ่งจัดเก็บจากผู้บริโภคนั้น ไม่ควรส่งผลต่อการใช้จ่ายของภาคธุรกิจหรือการวางแผนธุรกิจระยะยาว แต่ดูเหมือนบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากกลับรับรู้ถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่ผู้บริโภคระงับการใช้จ่าย

ทั้งนี้ คาดกันว่าภายในสิ้นปีนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะตัดสินใจว่า จะเดินหน้าแผนขึ้นภาษีการขายเป็น 10% ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีหน้าหรือไม่

ทางด้านจุนอิชิ มากิโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียวริตี้ส์ ชี้ว่า ประชาชนอาจคาดหวังมากขึ้นให้บีโอเจผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม และรัฐบาลเพิ่มงบการใช้จ่าย

มากิโนะคาดว่า บีโอเจอาจตัดสินใจดำเนินการบางอย่างในการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายในวันที่ 31 เดือนหน้า และเชื่อว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาผลักดันงบประมาณรายจ่ายพิเศษเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 48,000 ล้านเยน ที่อาจประกาศออกมาอย่างเร็วที่สุดในฤดูใบไม้ร่วง

สำหรับช่วงครึ่งหลังของปีนี้นั้น มาร์เซล ไทเลียนต์ นักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ยังคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกระเตื้องขึ้น

ทว่า เครดิต สวิสส์กลับมองต่างมุมว่า เศรษฐกิจแดนปลาดิบเผชิญปัญหาสำคัญถึง 3 ประการ ในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ การใช้จ่ายส่วนบุคคลเนือยลง การเติบโตของผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว และความต้องการจากนอกประเทศซบเซา
กำลังโหลดความคิดเห็น