xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพีญี่ปุ่นติดลบ - ผลพวง ศก.จีนซบ คาดบีบอาเบะออกแผนกระตุ้นเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งของโตโยต้าในจังหวัดไอจิ ทางภาคกลางของญี่ปุ่น
เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวในไตรมาสที่ผ่านมา ฟ้องว่าการเติบโตจากมาตรการ “อาเบะโนมิกส์” เริ่มสะดุด ขณะที่ภาวะการชะลอตัวของจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านในเอเชีย ทำให้มีแนวโน้มว่า จีดีพีแดนปลาดิบจะไม่ฟื้นตัวง่าย ๆ และยังกระตุ้นให้มีการคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลอาจถูกบีบให้ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ติดลบ 0.4% หรือ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สืบเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายและการส่งออกซบเซา

อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่สำนักคณะรัฐมนตรีเปิดเผยออกมาเมื่อวันจันทร์ (17 ส.ค.) ถือว่า ดีกว่าการคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อย โดยตลาดคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ผ่านมาลดลง 0.5% หรือ 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2014

ทั้งนี้ การบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของจีดีพี ลดลง 0.8% จากไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับจากไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมาอันเป็นผลจากการขึ้นภาษีการขาย ขณะที่ยอดส่งออกลดลง 4.4%

เอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียวริตีส์ แสดงความเห็นว่า จีดีพีที่ร่วงแรงหลังเติบโตอย่างน่าประหลาดใจในช่วงไตรมาสก่อนหน้าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่อุปสงค์สินค้าญี่ปุ่นในอเมริกา จีน และตลาดอื่น ๆ ซบเซาลง ขณะที่ค่าแรงแทบไม่มีการปรับตัว ประกอบกับสภาพอากาศเลวร้ายที่ช่วยกันฉุดอุปสงค์ในประเทศ

เศรษฐกิจขาลงครั้งล่าสุดมีขึ้นหลังการเติบโตเกินคาดในไตรมาสแรก เนื่องจากมีการใช้จ่ายเงินทุนมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจญี่ปุ่นรายงานผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ

วันจันทร์ (17) ญี่ปุ่นยังปรับเพิ่มอัตราเติบโตในไตรมาสแรกเป็น 1.1% จากตัวเลขประมาณการณ์เบื้องต้นที่ 0.6% เท่านั้น

สำหรับไตรมาสปัจจุบันนั้น นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า เศรษฐกิจคงไม่สามารถฟื้นตัวมากนัก เนื่องจากการชะลอตัวของจีนและผลกระทบที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย

เศรษฐกิจขาลงครั้งนี้สะท้อนว่า การเติบโตของญี่ปุ่นเริ่มหยุดชะงักอีกครั้ง และกดดันให้บรรดาผู้วางนโยบายต้องคิดหามาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังเพิ่มเติมภายในปลายปีนี้ นอกจากนั้น ยังฟ้องว่า มาตรการ “อาเบะโนมิกส์” ที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ริเริ่มผลักดันเมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งประกอบด้วย มาตรการใช้จ่ายของรัฐ และการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เริ่มหมดฤทธิ์

ฮิโรชิมะ ชิรากาวะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเครดิตสวิส ชี้ว่า ถ้าการบริโภคภาคเอกชนยังซบเซาต่อไปจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลที่คะแนนนิยมกำลังตกต่ำลง เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในปีหน้า ด้วยเหตุนี้ จึงมีโอกาสสูงที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติม

นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มที่บีโอเจจะถูกกดดันให้ลดการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีงบประมาณปัจจุบันที่เล็งไว้ที่ 1.5% ระหว่างการทบทวนการคาดการณ์ระยะยาวในเดือนตุลาคม

การบริโภคที่ซบเซาตอกย้ำภาวะหนีเสือปะจระเข้สำหรับบีโอเจ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มมาตรการกระตุ้นได้

ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยใกล้ชิดของอาเบะยังส่งสัญญาณว่า ไม่สนับสนุนการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากหากบีโอเจยอมให้ค่าเงินเยนอ่อนลงจะดันให้ต้นทุนอาหารและการนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภค จึงเท่ากับว่า ภาระหน้าที่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตกเป็นของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว

ยูอิชิโร นากาอิ นักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ แคปิตอล เจแปน มองว่า อาเบะโนมิกส์ยังไม่หมดฤทธิ์เสียทีเดียว แต่ปัญหาคือขั้นตอนนโยบายไม่ช่วยผลักดันให้มีการขึ้นค่าแรงเพียงพอรับมือต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น เท่ากับว่าบีโอเจไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก จึงมีโอกาสมากที่รัฐบาลอาจออกมาตรการกระตุ้นใหม่ หากการบริโภคยังไม่ฟื้นภายในไตรมาสปัจจุบัน

ทางด้านรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อากิระ อามาริ ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่จะเดินหน้ากดดันให้บริษัทแปลงกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นการขึ้นค่าแรงและเพิ่มการลงทุนด้านเงินทุนแทน

แต่ถึงกระนั้น อุปสงค์ในเอเชียที่เริ่มจะเนือย ๆ ลงทำให้น่าสงสัยว่า จะมีผู้ผลิตญี่ปุ่นรายใดสามารถทำกำไรก้อนโตจากนอกประเทศได้อีกเดือนที่แล้ว โกเบ สตีล ผู้ผลิตเหล็กกล้าอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ประกาศลดการคาดการณ์ยอดขายประจำปีการเงินปัจจุบันที่จะสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2016 ลง โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัวในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเงินทุนในจีนภายในช่วง 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่งนับจากนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น