xs
xsm
sm
md
lg

‘โลก’ ประกาศร่วมมือร่วมใจกัน พร้อมเพิ่มรักษาความปลอดภัยภายหลังเหตุโจมตีที่ปารีส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>รวมภาพการประดับไฟด้วยสีแดง, ขาว, น้ำเงิน ตามสีธงชาติของฝรั่งเศส ในอาคารสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วโลก เพื่อแสดงการไว้อาลัยแด่เหยื่อของเหตุการณ์โจมตีกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ย. (จากแถวบนลงแถวล่าง และจากภาพซ้ายไปภาพขวา): เนชั่นแนล แกลเลอรี ในลอนดอน, ชิงช้าสวรรค์ “ลอนดอน อาย”, ซีเอ็น ทาวเวอร์ ในโทรอนโต, โอเรียนทอล เพิร์ล ทีวี ทาวเวอร์ ในเซี่ยงไฮ้, ประตูแบรนเดนเบิร์ก ในเบอร์ลิน, อาคาร ไทเป 101 ในไต้หวัน, โอเปร่า เฮาส์ ที่ซิดนีย์, อนุสาวรีย์ อังเคล เด ลา อินดีเปนเดนเซีย ของเม็กซิโก, ศาลาว่าการนครซานฟรานซิสโก </i>
รอยเตอร์ - ผู้นำทั่วโลกแสดงปฏิกิริยาตอบโต้เหตุการณ์โจมตีเหี้ยมโหดนองเลือดในกรุงปารีส ด้วยการประกาศให้คำมั่นที่จะร่วมมือร่วมใจกันไม่ยอมอ่อนข้อให้ผู้ก่อการร้าย ขณะเดียวกันยุโรปก็เพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย หลังจากที่กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ประกาศตัวอยู่เบื้องหลังการกราดยิงและใช้ระเบิดฆ่าตัวตายซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 129 คนในนครหลวงของฝรั่งเศส
ตั้งแต่ บารัค โอบามา ไปจนถึง วลาดิมีร์ ปูติน ตลอดทั่วทั้งยุโรปไปจนถึงตะวันออกกลาง บรรดาผู้นำต่างร่วมแสดงความเสียใจต่อประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของแดนน้ำหอม ผู้ซึ่งระบุว่าการโจมตีคราวนี้เท่ากับเป็นพฤติการณ์ทำสงครามกับฝรั่งเศส

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง หลังจากเกิดการนองเลือดหฤโหดในวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นเหตุนองเลือดครั้งร้ายแรงที่สุดในฝรั่งเศสนับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา บรรดาชาติเพื่อนบ้านในยุโรป เป็นต้นว่า อังกฤษ, เบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมนี และอิตาลี ต่างเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ฝรั่งเศสเองก็ประกาศใช้มาตรการควบคุมชายแดนเป็นการชั่วคราว

ในบรรดาผู้นำที่ร่วมแสดงความเสียใจต่อฝรั่งเศสนั้น นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ได้โทรศัพท์ไปหาออลลองด์ หลังจากนั้นเขาแถลงกับผู้สื่อข่าวได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเพื่อแสดงความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเขา

“ถึงแม้รู้สึกช็อก แต่ก็มีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ถึงแม้มีความรู้สึกโศกเศร้า แต่ก็ไม่ยอมก้มหัว ข้อความที่ผมมีไปถึงประชาชนฝรั่งเศสนั้นง่ายๆ เลย Nous sommes solidaires avec vous. Nous sommes tous ensemble. พวกเรายืนอยู่เคียงข้างพวกคุณ สามัคคีกันไว้” คาเมรอนกล่าว

<i>รวมภาพจากทั่วโลกแสดงให้เห็นพิธีจุดเทียนรำลึกและสวดมนตร์ไว้อาลัยให้แก่เหยื่อของเหตุการณ์โจมตีกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ย. (จากแถวบนลงแถวล่าง และจากภาพซ้ายไปภาพขวา): จุดเทียนไว้อาลัยที่ซิดนีย์, ชุมนุมรำลึกที่รีโอเดจาเนโร, จุดเทียนไว้อาลัยในเทลอาวีฟ, จุดเทียนไว้อาลัยในเมืองโลซานน์, จุดเทียนไว้อาลัยในเมืองมาร์กเซย์, พิธีรำลึกที่สถานทูตฝรั่งเศสในวอร์ซอ, พิธีรำลึกที่ประตูแบรนเดนเบิร์ก ในเบอร์ลิน, ประดับไฟที่กำแพงเมืองเก่าของเยรูซาเลม, จุดเทียนไว้อาลัยในโซล </i>
ทางด้านประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ แถลงว่า “นี่ไม่ใช่เป็นการโจมตีเล่นงานเพียงแค่เฉพาะกรุงปารีส ไม่ใช่เป็นการโจมตีเล่นงานเพียงแค่เฉพาะประชาชนชาวฝรั่งเศส แต่นี่เป็นการโจมตีเล่นงานมนุษยชาติทั้งมวลและค่านิยมสากลทั้งหลายที่พวกเรายึดถือร่วมกัน”

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี พูดคล้ายๆ โอบามา โดยเธอกล่าวว่า “ชีวิตที่มีเสรีภาพของพวกเรานั้น มีความเข้มแข็งกว่าการก่อการร้าย”

สถานที่สำคัญๆ ในกรุงลอนดอน เป็นต้นว่า ชิงช้าสวรรค์ “ลอนดอน อาย” และ สะพาน “ทาวเวอร์ บริดจ์” ถูกประดับด้วยแสงไฟ 3 สีคือ แดง, ขาว และน้ำเงิน ตามสีธงชาติฝรั่งเศส เช่นเดียวกับอาคารสถานที่ชื่อดังอื่นๆ ในทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น “โอเปรา เฮาส์” ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย, ตึกระฟ้า “ไทเป 101” ในไต้หวัน, อาคารวุฒิสภาในกรุงเม็กซิโกซิตี, อาคาร “วัน เวิลด์เทรด เซนเตอร์” ในนครนิวยอร์ก ฯลฯ

นครนิวยอร์ก, ลอสแองเจลิส, บอสตัน และเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ในสหรัฐฯก็มีการเพิ่มความระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย โดยพวกเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายระบุว่า การที่กำลังตำรวจปรากฏตัวออกตรวจตราอารักขาเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้เป็นเพียงมาตรการปลอดภัยไว้ก่อนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเกิดภัยคุกคามเฉพาะเจาะจงใดๆ

ในวันเสาร์ (14) ที่นครนิวยอร์ก ผู้คนจำนวนหลายร้อยคน รวมทั้งนายกเทศมนตรี บิลล์ เดอ บลาซิโอ ได้ออกมาชุมนุมจุดเทียนรำลึกไว้อาลัยที่บริเวณสวนสาธารณะจัตุรัสวอชิงตัน มีบางคนในกลุ่มชนเหล่านี้ถือป้ายสัญลักษณ์ของสันติภาพ และมีหอไอเฟลอยู่ตรงกลาง

นครแห่งนี้วางแผนว่าเมื่อท้องฟ้ามืดมิดจะเปิดแสงไฟฟ้าที่บริเวณประตูชัยซึ่งเป็นหลักหมายสำคัญของจัตุรัสแห่งนี้ เป็นสีธงชาติของฝรั่งเศสเช่นกัน
<i>ผู้คนชุมนุมไว้อาลัยแด่เหยื่อเหตุการณ์โจมตีกรุงปารีส  ที่บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ในกรุงวอชิงตัน วันเสาร์ (14 พ.ย.) </i>
โรยา เฮกดัห์ล นักศึกษามหาวิทยาลัยโคลัมเบียวัย 21 ปี ซึ่งมาจากเมืองซีแอตเติล ยืนอยู่กับเพื่อนร่วมห้องชาวฝรั่งเศสของเธอ โดยที่เธอนำธงชาติฝรั่งเศสผืนหนึ่งมาคลุมตัว

“ฉันรู้สึกกังวลใจมากเลย ว่าโลกจะแสดงปฏิกิริยายังไงต่อสถานการณ์นี้ เพราะในชั่วเวลาแบบนี้ มันง่ายเหลือเกินที่จะตอบโต้ด้วยความหวาดกลัวและความโกรธแค้น ซึ่งบ่อยครั้งไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุดและการวางนโยบายที่ดีที่สุด” เฮกดัห์ลกล่าว

บริเวณด้านนอกของอาคารศูนย์กลางอิสลามแห่งอเมริกา ในเมืองเดียร์บอร์น มลรัฐมิชิแกน ผู้คนราว 30 คนชุมนุมกันแสดงความไว้อาลัยต่อเหยื่อผู้สูญเสียในเหตุโจมตีที่กรุงปารีส และในเหตุระเบิดหลายครั้งในเลบานอนสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้สังหารผู้คนไป 43 คน เมืองเดียร์บอร์นเป็นจุดหนึ่งที่มีชาวมุสลิมพำนักอาศัยเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ

“ฉันอยากแนะนำให้ผู้คนทำความเข้าใจกันมากขึ้นในเรื่องอิสลามและอิสลามคืออะไรกันแน่ ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินและพูดออกไปว่า นี่เป็นการโจมตีของพวกมุสลิม” นิสรีน ซาลาเม 1 ในผู้ที่ออกมาร่วมไว้อาลัย กล่าว

การโจมตีคราวนี้อันเป็นครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในยุโรป นับแต่แต่เหตุระเบิดในกรุงมาดริด, สเปน เมื่อปี 2004 เปิดเผยให้เห็นอย่างหมดเปลือกว่าพวกไอเอสมีความสามารถที่จะก่อการโจมตีในบริเวณหัวใจของยุโรป และการติดตามเฝ้าระวังขบวนการของพวกหัวรุนแรงซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งฆ่าฟันนั้นเป็นงานที่ลำบากยากเย็นขนาดไหน

นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับนโยบายรับผู้ลี้ภัยของยุโรป และเรื่องความล้มเหลวในนโยบายของฝ่ายตะวันตกในซีเรีย
<i>ผู้คนเข้าร่วมการจุดเทียนรำลึกไว้อาลัยเหยื่อเหตุการณ์โจมตีกรุงปารีส ที่จัตุรัสทราฟัลการ์ ในกรุงลอนดอน วันเสาร์ (14 พ.ย.) </i>
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของฝ่ายตะวันตกหลายรายระบุว่า การโจมตีที่ปารีสคราวนี้ ถือเป็นหนึ่งในสถานการณ์ “ฝันสยอง” สำหรับตำรวจทีเดียว นั่นคือเป็นการโจมตีหลายๆ จุดโดยมีการวางแผนเตรียมตัวมาอย่างดี มีการใช้อาวุธทันสมัยเล่นงานพลเรือนปราศจากอาวุธซึ่งออกตระเวนเที่ยวเตร่ไปในย่านเมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่น รวมทั้งที่สนามกีฬาสำคัญซึ่งกำลังมีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระดับทีมชาติ

พวกหัวรุนแรงไอเอสระบุว่า การโจมตีคราวนี้วางแผนเอาไว้เพื่อ “สั่งสอนฝรั่งเศส และทุกๆ ชาติที่เดินไปตามเส้นทางเดียวกันกับฝรั่งเศส โดยชาติเหล่านี้จะยังคงอยู่ในระดับแถวบนสุดของรายชื่อเป้าหมายที่รัฐอิสลามจะต้องเข้าโจมตี”

ทางด้านประธานาธิบดีออลลองด์บอกว่า การโจมตีครั้งนี้มีการวางแผนนอกประเทศฝรั่งเศส แต่ลงมือปฏิบัติการโดยได้รับความช่วยเหลือจากภายในฝรั่งเศส

แหล่งข่าวความมั่นคงของโลกตะวันตกหลายรายชี้ว่า การที่ชายแดนระหว่างชาติยุโรปด้วยกันเต็มไปด้วยช่องโหว่ จึงเปิดทางให้การเคลื่อนย้ายอาวุธทันสมัยและผู้คนที่มีศักยภาพจะเป็นคนร้ายได้ สามารถกระทำได้อย่างค่อนข้างเสรี

หลังเกิดเหตุร้ายที่ปารีสคราวนี้ นายกรัฐมนตรี มาร์ก รุตเต ของเนเธอร์แลนด์ แถลงว่า จะเพิ่มการรักษาความปลอดภัยที่แนวชายแดนและที่สนามบินต่างๆ ของประเทศ พร้อมระบุว่าเวลานี้ชาวดัตช์กำลัง “ทำสงคราม” กับกลุ่มรัฐอิสลาม

ขณะที่เบลเยียมก็เพิ่มการควบคุมพรมแดน โดยเฉพาะการตรวจตราผู้เดินทางมาจากฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นทางถนน, รถไฟ, หรือทางอากาศ นายกรัฐมนตรีชาร์ลส์ มิเชล ของเบลเยียมยังขอร้องประชาชนในประเทศของเขาเมื่อวันเสาร์ (14) อย่าเดินทางไปปารีสหากไม่มีความจำเป็น
<i>ชาวฝรั่งเศสที่พำนักในญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่น ยืนสงบนิ่งไว้อาลัยเหยื่อเหตุการณ์โจมตีที่ปารีส โดยมีเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส, เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น, และผู้ว่าการมหานครโตเกียว เป็นผู้นำการรำลึกไว้อาลัย  ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงโตเกียว เมื่อวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) </i>
พวกผู้นำสหภาพยุโรปพากันแถงว่า การก่อเหตุโจมตีเช่นนี้จะไม่สามารถทำให้ยุโรปเกิดการแตกแยกได้

แต่ว่าที่รัฐมนตรีกิจการยุโรปของโปแลนด์ ซึ่งเป็น 1 ในชาติสมาชิกอียู ได้ออกมากล่าวหลังเกิดเหตุที่กรุงปารีสว่า โปแลนด์คงจะไม่สามารถรับผู้อพยพเข้าประเทศตามโควตาจัดสรรของสหภาพยุโรปได้

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน โปแลนด์ยังสนับสนุนแผนการของอียูที่จะให้เหล่า 28 ชาติสมาชิกแบ่งกันรับผู้ลี้ภัยอีก 120,000 คน โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้จำนวนมากหลบหนีภัยสงครามจากซีเรีย

การโจมตีคราวนี้ยังจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงขึ้นในเยอรมนี เกี่ยวกับนโยบายผู้ลี้ภัยของแมร์เคิล และเกี่ยวกับวิธีการในการตรวจสอบผู้คนที่เดินทางเข้าเยอรมนี

กำลังโหลดความคิดเห็น