ผู้นำทั่วโลกแสดงปฏิกิริยาตอบโต้เหตุการณ์โจมตีเหี้ยมโหดนองเลือดในกรุงปารีส ด้วยการประกาศให้คำมั่นที่จะร่วมมือร่วมใจกันไม่ยอมอ่อนข้อให้ไอเอส ยุโรป-ฝรั่งเศสประกาศยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ สถานทูตและสถานกงสุลในต่างแดน ชี้ชายแดนยุโรปมีช่องโหว่ เปิดทางเคลื่อนย้ายอาวุธและคนร้ายเดินทางง่ายขึ้น ล่าสุดพบคนร้ายทิ้ง “ปืนอาก้า” จำนวนมากไว้ในรถ บ่งชี้มีบางคนหลบหนีไปได้
หลังจากที่กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ประกาศตัวอยู่เบื้องหลังการกราดยิงและใช้ระเบิดฆ่าตัวตายซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 130 คน บาดเจ็บกว่า 350 คน ในนครหลวงของฝรั่งเศส ประธานาธิบดีออลลองด์บอกว่า การโจมตีครั้งนี้มีการวางแผนนอกประเทศฝรั่งเศส แต่ลงมือปฏิบัติการโดยได้รับความช่วยเหลือจากภายในฝรั่งเศส พร้อมกันนี้ได้ประกาศยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานทูต สถานกงสุล และที่ทำการหน่วยงานรัฐบาลของตนในต่างแดน
ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้ยกเลิกแผนการของเขาที่จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิตกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20) ซึ่งมีขึ้นในวานนี้ (15) ที่ประเทศตุรกี และขณะนี้กำลังพบปะหารือกับผู้นำทางการเมืองฝ่ายต่างๆ เพื่อปรึกษาอภิปรายเกี่ยวกับวิกฤตการณ์คราวนี้
นายกรัฐมนตรี มานูเอล วาลส์ ของฝรั่งเศส ประกาศว่า แดนน้ำหอมจะยังคงถล่มโจมตีพวกไอเอสในซีเรียต่อไป พร้อมกับพูดถึงกลุ่มนี้ว่า เป็นศัตรูที่มีการรวมกลุ่มจัดองค์กรอย่างดีมาก
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสพบพาสปอร์ตของชาวซีเรียตกอยู่ข้างศพของคนร้ายที่ใช้มือระเบิดฆ่าตัวตายรายหนึ่งที่ก่อเหตุวินาศกรรมสะเทือนโลกในครั้งนี้ นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างหอไอเฟลก็ถูกสั่งปิดอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัย
ส่วนความคืบหน้าคนร้ายตำรวจฝรั่งเศสระบุตัว 1 ใน 7 มือปืนได้แล้วชื่อว่า โอมาร์ อิสมาอิล มอสเตฟาอี วัย 29 ปี ซึ่งถูกระบุตัวตนจากนิ้วมือที่ขาดนิ้วหนึ่ง ซึ่งถูกพบที่ห้องโถงแสดงคอนเสิร์ตบาตาแคลน สถานที่เกิดเหตุที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด
รายงานล่าสุดเจ้าหน้าที่พบปืนอาก้าจำนวนมากในรถยนต์ซึ่งถูกทิ้งเอาไว้คันหนึ่ง ที่เชื่อกันว่าเป็นพาหนะของกลุ่มคนร้ายบางคนซึ่งปฏิบัติการโจมตีอย่างโหดเหี้ยมนองเลือดในกรุงปารีส แหล่งข่าวด้านยุติธรรมของฝรั่งเศสหลายรายเปิดเผยในวันนี้ (15 พ.ย.)
รถยนต์ “เซียต” สีดำคันดังกล่าว ถูกพบทิ้งเอาไว้ในย่านมงเทรย ชานเมืองด้านตะวันออกของปารีสในวันอาทิตย์ (15) ซึ่งดูจะบ่งชี้ให้เห็นว่าคนร้ายที่ก่อการโจมตีบางส่วนอาจจะหลบหนีไปได้
รถยนต์ “เซียต” คันที่พบในย่านมองเทรย เชื่อกันว่าเป็นพาหนะของคนร้ายกลุ่มที่เปิดฉากยิงกราดผู้คนในร้านอาหารและบาร์หลายแห่งเมื่อคืนวันศุกร์ (13) ตำรวจฝรั่งเศสเปิดเผย ขณะที่สื่อมวลชนฝรั่งเศสอ้างแหล่งข่าวด้านยุติธรรมหลายรายกล่าวว่า ได้พบปืน เอเค 47 (ปืนอาก้า) จำนวนมากในรถคนนี้
เรื่องนี้ดูจะเป็นการยืนยันทฤษฎีที่ว่าคนร้ายบางคนสามารถหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุภายหลังก่อการโจมตีแล้ว ฮิว สโคฟิลด์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซีรายงานจากปารีส
คนร้ายเหล่านี้น่าจะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์อีกคันหนึ่ง แล้วขับขึ้นเหนือมุ่งสู่เบลเยียม โดยเมื่อวันเสาร์ (14) นั้นมีชาย 5 คนถูกจับกุมในเบลเยียม ที่เมืองโมเลบีค ใกล้ๆ กับกรุงบรัสเซลส์ เนื่องจากเกี่ยวข้องพัวพันกับการโจมตีในปารีส นายกเทศมนตรีเมืองโมเลนบีค บอกกับทีวีเบลเยียม
ขณะที่นายกรัฐมนตรี ชาร์ลส์ มิเชล ของเบลเยียม ก็กล่าวว่า พวกที่ถูกจับกุมนี้มีอย่างน้อยคนหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ (13) มีรายงานด้วยว่า ได้พบรถยนต์โฟล์คสวาเกน โปโล ติดป้ายทะเบียนเบลเยียม ถูกทิ้งเอาไว้ใกล้ๆ กับหอแสดงคอนเสิร์ตบาตาแคลน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้ถูกสังหารเกือบ 90 คน
หัวหน้าอัยการปารีส ฟรองซัวส์ โมแลงส์ กล่าวว่า รถยนต์โฟล์ค โปโล คันดังกล่าว เช่ามาโดยบุคคลสัญชาติฝรั่งเศสผู้หนึ่งซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในเบลเยียม
“จากการสืบสวนสอบสวนในชั้นนี้ เราสามารถพูดได้ว่า น่าจะมีทีมผู้ก่อการร้าย 3 ทีมที่ทำงานประสานกัน อยู่เบื้องหลังพฤติการณ์โหดเหี้ยมป่าเถื่อนคราวนี้” โมแลงส์ บอก
“เราจะต้องสืบหาต่อไปว่าคนเหล่านี้มาจากไหน ... และพวกเขาได้รับการสนับสนุนทางการเงินด้วยวิธีใด”
***ผู้นำโลกประสานเสียงยืนข้างฝรั่งเศส
ด้านประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ แถลงว่า “นี่ไม่ใช่เป็นการโจมตีเล่นงานเพียงแค่เฉพาะกรุงปารีส ไม่ใช่เป็นการโจมตีเล่นงานเพียงแค่เฉพาะประชาชนชาวฝรั่งเศส แต่นี่เป็นการโจมตีเล่นงานมนุษยชาติทั้งมวลและค่านิยมสากลทั้งหลายที่พวกเรายึดถือร่วมกัน” ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี พูดคล้ายๆ โอบามา โดยเธอกล่าวว่า “ชีวิตที่มีเสรีภาพของพวกเรานั้น มีความเข้มแข็งกว่าการก่อการร้าย”
ขณะที่นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษระบุว่า การโจมตีดังกล่าว “แสดงให้เห็นถึงการวางแผนและการประสานงานในอีกระดับหนึ่งและเป้าหมายสำหรับการโจมตีนองเลือดที่ใหญ่ขึ้น”
สถานที่สำคัญๆ ในกรุงลอนดอน เป็นต้นว่า ชิงช้าสวรรค์ “ลอนดอน อาย” และ สะพาน “ทาวเวอร์ บริดจ์” ถูกประดับด้วยแสงไฟ 3 สีคือ แดง, ขาว, และน้ำเงิน ตามสีธงชาติฝรั่งเศส เช่นเดียวกับอาคารสถานที่ชื่อดังอื่นๆ ในทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น “โอเปร่า เฮาส์” ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย, ตึกระฟ้า “ไทเป 101” ในไต้หวัน, อาคารวุฒิสภาในกรุงเม็กซิโกซิตี, อาคาร “วัน เวิลด์ เทรด เซนเตอร์” ในนครนิวยอร์ก ฯลฯ
นครนิวยอร์ก, ลอสแองเจลิส, บอสตัน, และเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ในสหรัฐฯก็มีการเพิ่มความระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย โดยพวกเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายระบุว่า การที่กำลังตำรวจปรากฏตัวออกตรวจตราอารักขาเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้เป็นเพียงมาตรการปลอดภัยไว้ก่อนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเกิดภัยคุกคามเฉพาะเจาะจงใดๆ
การโจมตีคราวนี้อันเป็นครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในยุโรป นับแต่แต่เหตุระเบิดในกรุงมาดริด, สเปน เมื่อปี 2004 เปิดเผยให้เห็นอย่างหมดเปลือกว่าพวกไอเอสมีความสามารถที่จะก่อการโจมตีในบริเวณหัวใจของยุโรป และการติดตามเฝ้าระวังขบวนการของพวกหัวรุนแรงซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งฆ่าฟันนั้นเป็นงานที่ลำบากยากเย็นขนาดไหน นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับนโยบายรับผู้ลี้ภัยของยุโรป และเรื่องความล้มเหลวในนโยบายของฝ่ายตะวันตกในซีเรีย
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของฝ่ายตะวันตกหลายรายระบุว่า การโจมตีที่ปารีสคราวนี้ ถือเป็นหนึ่งในสถานการณ์ “ฝันสยอง” สำหรับตำรวจทีเดียว นั่นคือเป็นการโจมตีหลายๆ จุดโดยมีการวางแผนเตรียมตัวมาอย่างดี มีการใช้อาวุธทันสมัยเล่นงานพลเรือนปราศจากอาวุธซึ่งออกตระเวนเที่ยวเตร่ไปในย่านเมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่น รวมทั้งที่สนามกีฬาสำคัญซึ่งกำลังมีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระดับทีมชาติ
พวกหัวรุนแรงไอเอสระบุว่า การโจมตีคราวนี้วางแผนเอาไว้เพื่อ “สั่งสอนฝรั่งเศส และทุกๆ ชาติที่เดินไปตามเส้นทางเดียวกันกับฝรั่งเศส โดยชาติเหล่านี้จะยังคงอยู่ในระดับแถวบนสุดของรายชื่อเป้าหมายที่รัฐอิสลามจะต้องเข้าโจมตี”
***ชี้ชายแดนยุโรปมีช่องโหว่เพียบ
แหล่งข่าวความมั่นคงของโลกตะวันตกหลายรายชี้ว่า การที่ชายแดนระหว่างชาติยุโรปด้วยกันเต็มไปด้วยช่องโหว่ จึงเปิดทางให้การเคลื่อนย้ายอาวุธทันสมัยและผู้คนที่มีศักยภาพจะเป็นคนร้ายได้ สามารถกระทำได้อย่างค่อนข้างเสรี
หลังเกิดเหตุร้ายที่ปารีสคราวนี้ นายกรัฐมนตรี มาร์ก รุตเต ของเนเธอร์แลนด์ แถลงว่า จะเพิ่มการรักษาความปลอดภัยที่แนวชายแดนและที่สนามบินต่างๆ ของประเทศ พร้อมระบุว่าเวลานี้ชาวดัตช์กำลัง “ทำสงคราม” กับกลุ่มรัฐอิสลาม ขณะที่เบลเยียมก็เพิ่มการควบคุมพรมแดน โดยเฉพาะการตรวจตราผู้เดินทางมาจากฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นทางถนน, รถไฟ, หรือทางอากาศ นายกรัฐมนตรีชาร์ลส์ มิเชล ของเบลเยียมยังขอร้องประชาชนในประเทศของเขาเมื่อวันเสาร์ (14) อย่าเดินทางไปปารีสหากไม่มีความจำเป็น
พวกผู้นำสหภาพยุโรปพากันแถลงว่า การก่อเหตุโจมตีเช่นนี้จะไม่สามารถทำให้ยุโรปเกิดการแตกแยกได้ แต่ว่าที่รัฐมนตรีกิจการยุโรปของโปแลนด์ ซึ่งเป็น 1 ในชาติสมาชิกอียู ได้ออกมากล่าวหลังเกิดเหตุที่กรุงปารีสว่า โปแลนด์คงจะไม่สามารถรับผู้อพยพเข้าประเทศตามโควตาจัดสรรของสหภาพยุโรปได้
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน โปแลนด์ยังสนับสนุนแผนการของอียูที่จะให้เหล่า 28 ชาติสมาชิกแบ่งกันรับผู้ลี้ภัยอีก 120,000 คน โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้จำนวนมากหลบหนีภัยสงครามจากซีเรีย การโจมตีคราวนี้ยังจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงขึ้นในเยอรมนี เกี่ยวกับนโยบายผู้ลี้ภัยของแมร์เคิล และเกี่ยวกับวิธีการในการตรวจสอบผู้คนที่เดินทางเข้าเยอรมนี.