“อุดมเดช” แจงทหารไม่เกี่ยวข้อง กรธ.ชุดใหม่ ขออย่าคิด สปช.คว่ำร่างฯ เพื่อต่ออายุอะไร ขอให้ทำตามขั้นตอนไปสู่เลือกตั้ง รับ คสช.ต้องร่วมคัดเลือก งงเอาชื่อจากไหนเป็นแคนดิเดต ย้ำร่างใหม่ต้องปรับปรุงให้ดีที่สุด พร้อมมอบรางวัลการแข่งขันด้านไซเบอร์กองทัพที่จัดเป็นครั้งแรก ยกเป็นประโยชน์กองทัพ พัฒนาป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ หลังถูกเป็นเป้าโจมตี
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ จำนวน 21 คนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.คงจะนัดประชุมกันอีกครั้ง โดยจะพยายามทำให้ไม่เกินเวลา ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ในส่วนของทหารไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นการจัดชื่อคนต่างๆ คงเป็นไปตามช่วงระยะเวลา ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการต่อไป โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้บอกขั้นตอนต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว ตนคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเมื่อมติของอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาเช่นนั้นแล้วต้องเดินตามขั้นตอนต่อไป
“ผมขอยืนยันว่าทุกคนไม่ได้มีความประสงค์อื่นใด แต่เมื่อมติของอดีต สปช.ออกมาเป็นเช่นนั้นก็ต้องเป็นเช่นนั้น ไม่ได้มีการไปผลักดันอะไร ถือว่าอดีต สปช.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนั้นอย่าไปคิดเห็นว่าใครจะต่ออายุอะไรและอย่างไร เพราะทุกคนก็อยากให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปด้วยความเรียบร้อย มาถึงวันนี้แล้วอย่าไปพูดถอยหลัง เรามาพูดว่าต่อไปจะทำอย่างไรให้สามารถเป็นไปตามขั้นตอนได้ การที่ไปสู่จุดหมายสุดท้ายคือการเลือกตั้งจะได้ไม่ยืดยาวไปกว่านั้น ซึ่งผมหวังให้เป็นเช่นนั้น และคิดว่าทุกคนก็หวังเช่นเดียวกัน” พล.อ.อุดมเดชกล่าว
เมื่อถามถึงคุณสมบัติคนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ตนคงกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของนายกฯ และผู้บังคับบัญชาต้องดูกันอีกทีซึ่งก็อาจจะมีการหารือกันต่อไป ในขณะนี้เป็นช่วงการเตรียมรายชื่อ เมื่อถามย้ำว่าคสช.จะต้องพูดคุยกันก่อนหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ก็แล้วแต่ เพราะจริงๆ แล้วก็ต้องมาร่วมกันคัดเลือก และผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งก็จะมาดูแลในตรงนั้นโดยจะพยายามหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ที่ผ่านมามีข่าวออกมาว่าเป็นคนนั้นหรือคนนี้ ตนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าไปหาชื่อกันมาอย่างไร
เมื่อถามว่าเมื่อถึงขั้นตอนนี้ คสช.จะกำหนดหรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาในรูปแบบไหนและอย่างไร เนื่องจากของเก่าถูกคว่ำไปแล้ว พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ก็คงเป็นเรื่องของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องดูว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมีจุดใดบ้าง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาคิด พร้อมทั้งนำของที่ได้ทำมาแล้วซึ่งไม่ใช่ของที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่จะปรับปรุงอย่างไรก็ต้องดูในจุดที่น่าจะเป็นปัญหาสร้างความไม่เข้าใจและไม่ราบรื่นจนทำให้ตัวร่างไม่ผ่านก็ต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป แน่นอนว่าเราจะต้องปรับปรุงให้ดีที่สุด
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้เป็นประธานมอบรางวัล การแข่งขันด้านเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์ครั้งยิ่งใหญ่ ภายใต้ชื่อว่า “Army Cyber Contest 2015” ของเทคโนโลยีทางทหาร กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งจะแปรสภาพเป็น “ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบกในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ของกองทัพบก และเหล่าทัพ กองบัญชาการกองทัพไทยและกระทรวงกลาโหม การสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ และการแข่งขันทักษะด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ โดยมี พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร/ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพให้การต้อนรับ
โดย พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวถือเป็นประโยชน์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการด้านไซเบอร์ ตามนโยบายของกองทัพบก ในการสร้างบุคลากรทั้งในส่วนของ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ เพื่อตระหนักถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ พร้อมทั้งพัฒนาหน่วยงานด้านไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำความรู้ไปขยายผลไปยังกำลังพลของตัวเองในหน่วยงานของกองทัพทุกระดับ โดยวันนี้ทำให้ตนได้เห็นถึงความก้าวหน้า
พล.อ.อุดมเดชกล่าวอีกว่า นโยบายของกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย ได้ให้ความสนใจงานด้านไซเบอร์ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้กลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีด้านไซเบอร์ จึงต้องมีการพัฒนากำลังพลด้านไซเบอร์ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับให้มีความก้าวหน้าต่อไป ถือเป็นความจำเป็นของทุกหน่วยที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกองทัพถือเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันปฏิบัติการไซเบอร์ของกองทัพ ถือเป็นครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นเพื่อสร้างศักยภาพกำลังพลของกองทัพด้านไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยรูปแบบการแข่งกันเรียกว่า Capture the Flag โดยมีกติกาทีมใดชิงธง (เป้าหมาย) หรือคุกคามเครื่องแม่ข่าย (Server) ของฝ่ายตรงข้ามได้มากที่สุดก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ โดยทีมการแข่งขันประกอบด้วย 8 ทีม คือทีมจากกระทรวงกลาโหม ทีมจากกองบัญชาการกองทัพไทย ทีมจากกองบัญชาการกองทัพบก 4 ทีม ทีมกองบัญชาการกองทัพเรือ และทีมกองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยแต่ละทีมจะมีเครือแม่ข่าย (Server) ทีมละ 3 ชุด ถือว่าเป็นการทดสอบฝีมือด้านทักษะด้านไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพ ที่มีทั้งความสนุกสนาม เร้าใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับทีมที่ได้รางวัลชนะชนะเลิศ ที่คือ 1 ทีมจากกรมทหารสื่อสาร ที่ 2 ทีมจากศูนย์เทคโนโลยีทหาร ที่ 3 ทีมจากกระทรวงกลาโหม ที่ 4 ทีมจากศูนย์เทคโนโลยีทหาร ที่ 5 ทีมจากกองบัญชาการกองทัพไทย ส่วนรางวัลชมเชย ประกอบด้วย ทีมจากกรมยุทธศึกษาทหารบก ทีมจากกรมข่าวทหารบก ทีมจากกองทัพเรือ ทีมจากกองทัพอากาศ นอกจากนียังมีในส่วนการบรรยายพิเศษ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้เชี่ยวชาญในสาขาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ชั้นนำของประเทศมาเป็นวิทยากร พร้อมทั้งจะได้รับชมการถ่ายทอดสดภาพผลการแข่งขันไซเบอร์ในแบบ Real time ตลอดจนถึงการบรรยายสรุปผลการแข่งขัน โดยผู้เชียวชาญทางด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์
สำหรับนิทรรศการจะมีบริษัทต่างๆที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในและต่างประเทศ มานำเสนอผลิตภัณฑ์ ตลอดจนระบบงานจำลองการฝึกด้านไซเบอร์ (Cyber Range) ถือเป็นระบบระบบงานที่หลายหน่วยงานของกองทัพให้ความสนใจและอาจจะถูกบรรจุไว้ในระบบของศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพในอนาคต